ใครสมควรเป็นนายกของพวกเรา?

นายกสมควรลาออกหรือไม่

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

พปช.สรุปนายกฯใหม่ดัน'สมชาย'

พปช.สรุปนายกฯใหม่ดัน'สมชาย'
พรรคร่วมรับไม่มีปัญหากองทัพต่อสายลอนดอนให้'สมพงษ์'ขึ้นควบ กห. กองทัพสายตรง"ลอนดอน"เบรกสถานการณ์หวั่นลุกลาม แนะให้"สมพงษ์ อมรวิวัฒน์"ขึ้นนายกฯ พร้อมคุมกลาโหม ขณะที่ พปช.ตั้งวงถกเครียดหาตัวนายกฯคนใหม่แทน สรุปหวยออกที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งใหม่ พร้อมส่งแกนนำประสานทุกกลุ่มทั้งในและนอกพรรค ด้านพรรคร่วมเปรยไม่มีปัญหา ส่วนกลุ่มเพื่อนเนวินขู่มั่วนิ่มอาจเจอเหตุการณ์แบบวันที่ 12 ก.ย.อีกรอบ “เทพเทือก” หนุน “สมชาย” ดูดีกว่าเพื่อน แม้จะเป็นน้องเขยแต่ไม่เคยเห็นทำอะไรเพื่อ “แม้ว” สักอย่าง ด้าน “ชวน”ได้ทีเหน็บใหญ่ อ้าง “มาร์ค” ชี้ทางออกให้แล้วไม่ฟัง เผยกลุ่มข้างถนนอาจออกมาอีกถ้าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม “บิ๊กป๊อก” ยันทหารไม่แทรกแซง แนะจบความขัดแย้งได้ประเทศเจริญ กองทัพเชียร์ “สมพงษ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่กระทรวงกลาโหม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีมีปัญหา จนมีกระแสข่าวว่าทหารอาจจะออกมาเคลื่อนไหวนั้น ล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้โทรศัพท์ไปหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ความวุ่นวายในการเลือกตัวนายกฯ ซึ่งทางเหล่าทัพเห็นว่าสถานการณ์แบบนี้คนที่จะมาทำให้เย็นและเบาบางลงไปน่าจะเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เห็นด้วย รายงานข่าวแจ้งว่า หากนายสมพงษ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯก็จะควบตำแหน่ง รมว. กลาโหมด้วย เนื่องจาก ครม.ชุดใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพื่อให้สะดวกต่อการสานต่อนโยบาย ส่วนกระแสข่าวผู้นำกองทัพไป กดดันพรรคพลังประชาชนไม่เอานายสมชาย น่าจะเป็นข่าวลือมากกว่า ที่กองทัพทำได้อย่างมากก็มาหารือกัน และเมื่อเสนอความเห็นไปแล้วจะทำหรือไม่ก็ไปบังคับไม่ได้ พรรคร่วมก็หนุนเช่นกัน รายงานข่าวจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแจ้งว่า ในการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านพักนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในฐานะแกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เมื่อช่วงดึกวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังนายสมัครประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้พูดคุยกันถึงบุคคลที่จะเป็นนายกฯคนใหม่ ต้องเป็นคนที่มีเงื่อนไขน้อยที่สุด ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ น่าจะเหมาะสมที่สุดเวลานี้ เนื่องจากมีประสบ การณ์ทางการเมืองมากที่สุดในบรรดา 3 ส. “นายสมพงษ์มองการเมืองทะลุปรุโปร่งมากกว่าคนอื่น พรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชาชนให้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และเขาก็ทราบปัญหานี้ เชื่อว่าทางพรรคพลังประชาชนจะตระหนักถึงปัญหาดี และคงจะเลือกตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมเพื่อรักษาสถานภาพการเป็นรัฐบาลต่อไป” แหล่งข่าวในพรรคร่วมกล่าว เตือนผิดฝาผิดตัวเปลี่ยนขั้ว แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ศึกษาธิการ มีภาพเป็นนอมินีของ พ.ต.ท. ทักษิณอย่างชัดเจน อาจจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นอย่างมาก ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการ รมว.คลัง ก็มีภาพเป็นนอมินีของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ส่วนแนวคิดที่จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองพรรคร่วมยังไม่คิด แต่ถ้ามีการเสนอชื่อนายกฯที่ผิดฝาผิดตัวมากเกินไปโอกาสสลับขั้วก็เกิดขึ้นได้ ขณะที่แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. 3 คนในกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ไปร่วมเซ็นชื่อเข้าประชุมสภาว่า ยอมรับว่าขณะนี้ความคิดเห็นในพรรคแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนายสุชาติ และกลุ่มใหญ่ที่มีนาย สุวิทย์ คุณกิตติ และนายพินิจ จารุสมบัติ เป็นแกนนำ ยอมรับว่ากลุ่มนายสุชาติยังหนุนนายสมัครอยู่ ก็ต้องมีการเจรจากันเพื่อกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวฝ่าวิกฤติครั้งนี้ พปช.ตั้งวงหาตัวนายกฯ สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของพรรค พลังประชาชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคได้เข้าหารือกันเพื่อพิจารณาผู้ที่เหมาะสมจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และน่าสังเกตว่ามีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมหลายคน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปถึง ตัวบุคคลว่าจะเป็นใคร คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในวันที่ 15 ก.ย. เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคเสนอให้มีการนิรโทษกรรม 9 แกนนำพันธมิตรฯ แลกกับการยุติชุมนุม นายวิรุฬกล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ เผยต่อสายขอความเห็น “แม้ว” นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ไม่สามารถจะพูดคุยอะไรได้ เพราะไม่มีหน้าที่อะไรเกี่ยวข้องกับพรรค เป็นเพียงมาพูดคุยในฐานะเพื่อนเก่า และวงที่ตนเข้าร่วมหารือไม่ได้ตัดสินคนที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ตนไม่แน่ใจว่าวงที่ตัดสินใจไปพูดคุยอยู่ที่ไหน ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า มีการพูดคุยกันหลายวง เพื่อพิจารณาคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯ เมื่อถามว่า ในฐานะโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความเห็นถึงสถานการณ์หรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ติด ตามข่าวในเมืองไทยตลอด หลายคนก็โทรศัพท์สอบถามไป แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ชี้ขาด “สมชาย” ยอมหลีกทางให้ แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชนเปิดเผยว่า บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตอนนี้เหลือเพียง 2 คนคือนายสมชายและนายสมพงษ์ เพราะ นพ.สุรพงษ์ได้ขอถอนตัวไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่านายสมชายจะขอถอนตัวตามไปอีกคน อย่างไรก็ตามในการหารือกันนั้นได้มีการพูดถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องดูแล ส.ส. ถ้านายสมพงษ์เป็นนายกฯแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือของแกนนำพรรคพลังประชาชนนั้น ได้มีการวิเคราะห์กันว่าไม่ว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นนายกฯก็ยังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯเหมือนเดิม ทางออกเดียวจึงต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็วเพื่อโยกย้ายข้าราชการ จากนั้นก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ความชอบธรรมของกลุ่มพันธมิตรฯหมด ไปจนต้องถอนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาล แต่การยุบสภาจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคไม่พอใจ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทางออกให้รอบคอบ นิ่งสงบสยบเคลื่อนไหว นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการ รมว. ยุติธรรม หนึ่งในแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐ มนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบที่จะเสนอชื่อเข้าสู่การประชุมสภา ในวันที่ 17 ก.ย. ว่า ยังไม่แน่นอน จะต้องมีการประชุมพรรคก่อน ตนก็ต้องเงียบวางตัวนิ่งไม่มีกลุ่มไหนและไม่อินังขังขอบแล้วแต่ทางพรรคจะพิจารณา นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า กรรมการบริหารจะพิจารณาผู้ที่เหมาะสมในวันที่ 15 ก.ย. อาจจะมี 3 ส. หรือมากกว่าก็ได้ จากนั้นจะส่งเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นวันที่ 16 ก.ย. จะนำรายชื่อที่ได้ไปให้พรรคร่วมรัฐบาล หากเรียบร้อยก็เสนอต่อที่ประชุมสภาวันที่ 17 ก.ย. เลย ซึ่งพรรคร่วมก็ไม่ขัดข้อง เกมพลิก “สมชาย” เข้าวิน เย็นวันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมของแกนนำระดับสูงของพรรคได้ข้อสรุปออกมาว่า จะเสนอชื่อนายสมชายเป็นนายกฯ คนใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้แกนนำคนหนึ่งไปประสานกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อขอให้สนับสนุนนายสมชาย ซึ่งหลายกลุ่มก็ตอบรับมาแล้ว ว่าไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้เรียกร้องให้แกนนำกลุ่มต่าง ๆ มาประชุมโดยพร้อมกัน ไม่ใช่ประชุมแค่แกนนำบางส่วนแล้ว ออกเป็นมติ ซึ่งหากไม่มีความชัดเจน การเลือกตั้งนายกฯในสภาวันที่ 17 ก.ย. อาจจะเหมือนวันที่ 12 ก.ย. ก็ได้ สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนนายสมชายนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เพราะต้องการได้คนที่ไว้ใจได้มากำกับดูแลรัฐบาล เพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจอยู่ไม่นาน อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังพรรคร่วมทุกพรรคแล้ว ซึ่งทุกพรรคก็ขานรับไม่มีปัญหา “หมัก” อยู่บ้านเล่นกับหลาน สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพักของนายสมัครบรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีบุคคลระดับแกนนำพรรคหรือบุคคลภายนอกเข้าพบ จากการสอบ ถามคนในบ้านทราบว่า นายสมัครออกจากบ้าน พักตั้งแต่เช้ามืด และกลับเข้ามาเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อพักผ่อนและเล่นกับหลาน ๆ ในบ้านด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มและอารมณ์ดี สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยรอบบ้านพักของนายสมัคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว กระจายกำลังอยู่บริเวณต่าง ๆ จำนวนประมาณ 8 นาย จวก ปชป.พวกฉวยโอกาส นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราช สีมา แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเพื่อนเนวินกับกลุ่มอีสานพัฒนาและ ส.ส. เหนือยุติแล้ว อะไรที่เป็นความผิดพลาดจะไม่มองย้อนไปในอดีต เราปรึกษาหารือและเห็นว่าจะต้องเดินหน้าไปด้วยความเป็นเอก ภาพ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องอาศัยความเป็นปึกแผ่น นายบุญจงยังกล่าวตำหนิพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯว่า เป็นการถือโอกาสทั้งที่รู้ว่าองค์ประชุมไม่ครบ คงหวังว่าจะให้นับองค์ประชุมแล้วขานชื่อซึ่งจะใช้ เวลาเป็นชั่วโมง ระหว่างนั้นก็จะประสานล็อบบี้กับบางพรรคเพื่อให้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนว่าการประชุมเลือกนายกฯ วันที่ 17 ก.ย.จะต้องมีความชัดเจน ที่สำคัญพรรคต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “ชวน” กรีดเตือนแล้วไม่ฟัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯว่า ฝ่ายค้านเคยบอกแล้วว่าการนัดประชุมสภาภายใน 3 วันนั้นไม่เหมาะสม ต้องให้เวลาในการพิจารณาการคัดเลือกตัวบุคคล แต่คงเป็นความกลัวว่าจะมีใครแย่งตั้งรัฐบาล จึงทำให้เกิดความลุกลี้ลุกลน ในที่สุดก็ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ แต่เชื่อว่าในวันที่ 17 ก.ย. น่าจะเลือกได้ “การไม่รับตำแหน่งนายกฯ ของนายสมัครคงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะนายสมัครยังเป็น ส.ส. อยู่ การเข้าร่วมประชุมสภาของพรรคประชาธิปัตย์ อย่ามองในแง่ลบว่าคิดจะแย่งตั้งรัฐบาล แต่เป็นการเข้าร่วมประชุมตามที่ประธานสภาได้เรียกประชุม ถ้าไม่เข้าร่วมประชุมคงเป็นเรื่องที่ไม่ดี และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่มีการเปลี่ยนขั้วอย่างแน่นอน” นายชวนกล่าว ไม่การันตีกลุ่มข้างถนนยุติ ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรที่มีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อบุคคล 1 ใน 3 ส. เป็นนายกฯ นายชวนกล่าวว่า รัฐบาลสามารถคิดได้แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ไม่สามารถวิจารณ์ได้ ต้องรอให้เห็นตัวบุคคลก่อน เมื่อถามต่อว่า การเมืองขณะนี้จะหาทางออกอย่างไร เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯยังไม่ยอมรับนายกฯที่มาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล นายชวนกล่าวว่า ทางออกมีอยู่หลายทาง ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่ให้ยุบสภาถือเป็นทางออกที่ดีจะสามารถสลายความวุ่นวายได้ ส่วนการเสนอการเมืองใหม่นั้น นายชวนกล่าวว่า การที่จะเรียกการเมืองใหม่หรือเก่าไม่มีผลอะไร เพราะเป็นเพียงคำพูด ต้องดูถึงต้นตอของปัญหาที่ธุรกิจเข้ามาครอบงำการเมืองใช้เงินเข้ามาซื้อเสียง ทำให้ผลเลือกตั้งเกิดความไม่ชอบ ธรรม และนำมาอ้างว่าเป็นความชอบธรรม จึงต้องสกัดธุรกิจการเมืองให้ได้ ต้องหาทางเปลี่ยนแปลง หากทำได้ก็เกิดความชอบธรรมมากขึ้น ใครที่คิดจะล้มก็ทำได้ยาก อย่างไรก็ตามตราบใดที่ไม่เกิดความชอบธรรม แค่ชนะการเลือกตั้งก็ยังมีโอกาสที่จะมีกลุ่มคนมาเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ “เทพเทือก”เชื่อความขัดแย้งไม่จบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัครตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯ ว่า นายสมัครคงตระหนักแล้วว่ากระแสของประชาชนเป็นอย่างไร ที่สำคัญ การที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนมากมี ปฏิกิริยาไม่รับนายสมัคร จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชุมสภาไม่ได้นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. เหล่านั้นถูกแรงกดดันจากประชาชนมามาก เมื่อถามว่า ข่าวการเสนอชื่อ 1 ใน 3 ส. เป็นนายกฯ จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรฯลดลงหรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหายังไม่จบและความขัดแย้งยังไม่ลดลง ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังพยายามมีบทบาทครอบงำการเมืองในประเทศไทยอยู่ การที่พรรคพลังประชาชนเกิดความขัดแย้งแล้วเรื่องจบเรียบร้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโทรศัพท์สายตรงจากกรุงลอนดอน แย้ม “สมชาย” ดูดีกว่าคนอื่น “กระแสสังคมยังกังวลว่า ถ้ารัฐบาลยังเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ปัญหาก็คงไม่จบ ในใจผมคิดว่านายสมชายน่าจะดูดี ส่วนนายสมพงษ์ยังมีความกังวลจากการสั่งย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม จากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นเลขาธิการ ปปท. เพราะต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เหมือนเป็นการทำตามคำสั่งและรักษาผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงคิดเช่นนี้ แม้นายสมชายจะเป็นน้องเขย พ.ต.ท. ทักษิณ แต่ความที่เคยเป็นผู้พิพากษาและปลัดกระทรวงยุติธรรม ผมไม่เคยเห็นว่าทำอะไรที่เป็นการรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ” นายสุเทพกล่าว เมื่อถามถึงการที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯในการประชุมสภา นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่อยากโต้แย้งกับนายบรรหาร แต่ตนขอฝากบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำเป็นปกติ ไม่ได้ทำอะไรผิดทำนอง คลองธรรม ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้นัดประชุมสภา เพื่อเลือกนายกฯ เราทักท้วงแล้วว่าเร็วเกินไปแต่ยังดึงดันเรียกประชุม เมื่อถึงเวลาการประชุมเราก็เข้า ยืนยันว่าสิ่งที่พรรคไม่ได้ทำอะไรผิด อัด “อ๋อย” จุ้นไม่เข้าเรื่อง นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเสนอชื่อนาย อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในสภานั้น ไม่ใช่เป็นเกม การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย การวิจารณ์ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่มาจุ้นจ้านถ้าเทียบเป็นกีฬาฟุตบอลก็ถือว่าไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นผู้ชมหรือผู้แข่งขัน เพราะไม่มีตั๋ว แต่ยังมาวิจารณ์น่าละอาย มากกว่า ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว อีกว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่ทำให้การประชุมสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาล่ม ได้แก่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ที่ลุกลี้ลุกลนเรียกเปิดประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกฯ และ 2.พรรคพลังประชาชนที่ดึงสถาบันนิติบัญญัติมาแก้ปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งนายกฯ อีกทั้งยังมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยนายสมชายได้มายืนหน้าห้องประชุม และกวักมือเรียก ส.ส. ให้ออกนอกห้องประชุม ถือเป็นครั้งแรกที่สภาล่ม เพราะรัฐบาลวอล์กเอาต์ จะโทษฝ่ายค้านไม่ถูกต้อง “ป๊อก” แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 ถึงการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า การประกาศใช้ได้ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมมาก จึงคิดว่าน่าจะพิจารณายกเลิก เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนกว่าจะมีการเลือกนายกฯคนใหม่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่า จะเห็นเหมาะสมประการใด เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่มอีก พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เท่าที่ได้เตรียมแผนไว้คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทหารยันไม่แทรกแซง เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ทหารอดทนต่อสถานการณ์ทางการเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ทหารเป็นหลักของบ้านเมือง ยิ่งในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเราต้องประกันความมั่นคงของประเทศชาติ หากผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจและเชื่อมั่นว่าตนจะไม่นำพาเขาไปในทางที่ผิด จึงเป็น ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เข้าไปยุ่ง เมื่อถามว่า การเมืองยังหาทางออกให้ กับสถานการณ์ไม่ได้ กองทัพจะมีจุดยืนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงเหมือนเดิม การเมืองพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ เราคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือแทรกแซง เมื่อถามว่า มีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าทหารบางกลุ่มไปล็อบบี้ทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลแห่งชาติเกิดยาก เมื่อถามว่า หากตกลงกันไม่ได้จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติคงยากที่จะเกิดขึ้น คนไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะไม่มีฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบถ่วงดุล ส่วนนายกฯ คนนอกยิ่งยากเพราะเกี่ยวกับรัฐธรรม นูญด้วย เมื่อถามว่า ขณะนี้พอจะเห็นนายกฯ คน ใหม่หรือยัง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงจะต้องมีได้แน่นอนในจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ประชาชนฝากความหวังให้กองทัพแก้ปัญหา พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกคนในประเทศเราหนักทั้งนั้น หนักที่จะต้องหาทางสร้างความเข้าใจทุกฝ่าย เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีประชาชนพยายามปลุกให้ทหารออกมาปฏิวัติ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า 1.ถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็นแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย 2.เมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกน่าส่งผลกระทบสูงกว่าที่จะรับได้ จึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ ข้าราชการทั้ง 3 เหล่ามีความเข้าใจสถานการณ์ ทุกคนพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี จบความขัดแย้งประเทศเจริญ เมื่อถามว่า พอใจหรือไม่ที่การโหวตเลือก นายกฯ เลื่อนออกไป เพราะได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปบ้าง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตนรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เมื่อถามว่า หากได้นายกฯ เร็วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า น่าจะดีขึ้น เพราะเราคงทนสุญญากาศไม่ได้ ถ้าสามารถจบเรื่องความขัดแย้งได้ และให้ประเทศเดินหน้าไปได้จะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อถามว่า นายกฯ คนใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่ทุกคนเห็นว่า หากมีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องเป็นวาระเร่งด่วน หาก ตรงนี้จบได้ประเทศเราเดินหน้าได้แน่นอน เมื่อถามว่า จุดยืนของกองทัพต่อผู้ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม ต้องเป็นอดีตนายทหารหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมานายสมัครก็ดูแลและดำเนินการให้กระทรวง กลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ เมื่อถามว่า ต้องกระซิบทหารก่อนหรือไม่ว่าจะนำใครมาเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น

“เสรี” แก้ต่างให้ “จรัญ” ส่วนการเมืองอื่นนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม สสร.50 อดีตรองประธาน ส.ส.ร. กล่าวถึงกรณีมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่านายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 207 และ 209 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในมหา วิทยาลัยรัฐและเอกชน ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามคล้ายกับนายสมัคร ที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากการทำรายการชิมไปบ่นไปว่า ถึงแม้ทั้ง 2 กรณีจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ในข้อเท็จจริงแล้วแตกต่างกัน “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเห็นว่าการสอนหนังสือ ถือเป็นเสรีภาพทางวิชาการ รัฐธรรมนูญมาตรา 50 ให้การรับรองไว้ ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ การสอนหนังสือดังกล่าวเป็นลักษณะอาจารย์พิเศษ ไม่ใช่ลูกจ้าง” นายเสรีกล่าว เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญจะครอบคลุมไปถึงการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจด้วยหรือ นายเสรีตอบว่า ถึงจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแต่ก็เป็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ การทำหน้าที่สอนหนังสือไม่มีเป้าหมายจะทำเป็นธุรกิจมุ่งหาผลกำไร.

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176709&NewsType=1&Template=1

นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์

5131601387 sec.02

ไม่มีความคิดเห็น: