ใครสมควรเป็นนายกของพวกเรา?

นายกสมควรลาออกหรือไม่

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

เปิดสำนวน"เสรี"ฟ้อง "ข่าวสด-3นายพล" ข่าวไม่ถวายอารักขา ศาลยก-ชี้ข่าวจริงคอลัมน์ แฟ้มคดี




เปิดสำนวน"เสรี"ฟ้อง "ข่าวสด-3นายพล" ข่าวไม่ถวายอารักขา ศาลยก-ชี้ข่าวจริงคอลัมน์ แฟ้มคดี
"ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูล เป็นการกล่าวหาลอยๆ และเป็นการฟ้องร้องตามความเห็นส่วนตัวของโจทก์เอง ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1-3 เป็นผู้ให้ข่าว เพราะในเรื่องนี้มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนออกมาก่อนหน้านี้เป็นระยะๆ แล้ว""อีกทั้งการเสนอข่าวของน.ส.พ.ในเรื่องดังกล่าวก็เป็นการเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง โดยที่โจทก์ก็ไม่ได้เดินทางไปรับเสด็จจริง จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด"ใจความสำคัญของคำพิพากษาคดีที่ศาลอาญา พิพากษายกคำฟ้องของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น., พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ในขณะนั้น-ปัจจุบันครองยศพล.ต.อ. ตำแหน่งรองผบ.ตร.) พล.ต.ท.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง จเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 8)บริษัท ข่าวสด จำกัด, นายฐากูร บุนปาน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา น.ส.พ.ข่าวสด, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา น.ส.พ.มติชน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท!!!คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในหลายข้อหาด้วยกัน ซึ่งมีนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนหนึ่งในข้อหาสำคัญคือกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ โดยมีหลักฐานประกอบจำนวนมาก ที่กลายเป็นประเด็นให้มีการฟ้องร้องครั้งนี้คือ การระบุว่าพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเสด็จฯ กลับจากโรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2550 นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังไม่ไปร่วมพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ประจำปี 2550 หรือวันราชวัลลภ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 แต่ไปร่วมงานเพื่อเป็นเกียรติ และแสดงความยินดีกับนายบุญยงค์ กมลเลิศวรา "กลุ่มเพื่อนเสรี" ซึ่งจัดงานเปิดสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ชื่อ "มายแคร์" และไปร่วมงานแต่งงานของบุคคลอื่นอีก ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซา พระราม 3 โดยมีภาพถ่ายและพยานเป็นหลักฐานร่วมยืนยันคณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลายปากเข้าให้การ โดยพล.ต.ท.อัศวินที่ถูกฟ้องในครั้งนี้ก็เข้าให้ปากคำด้วย รวมไปถึงนายบุญยงค์ หรือเสี่ยมายแคร์ ขณะที่พล.ต.อ.จงรัก และพล.ต.ท.ธีรเดช เป็นกรรมการสอบสวนสื่อมวลชนนำเสนอข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องกระทั่งในกาลต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ยื่นฟ้อง 3 นายพลตำรวจ โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้ข่าวเรื่องนี้ พร้อมกับฟ้องหนังสือพิมพ์ข่าวสดและมติชน ที่นำเสนอข่าวดังกล่าวก่อนที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในที่สุดโดยมีรายงานด้วยว่า พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. และพล.ต.ท.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง เตรียมฟ้องกลับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ตามป.อาญา มาตรา 175 และมาตรา 177 พร้อมเรียกค่าเสียหายด้วย!??สําหรับเนื้อหาในคำฟ้องของโจทก์ มีเนื้อหาโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อโจทก์ โดยมีนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 35/2551 ให้โจทก์ปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2551 ก็ได้มีคำสั่งสำนักงานนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 ให้โจทก์ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขณะนี้อยู่ในระหว่างที่โจทก์ดำเนินการทางกฎหมายกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รายละเอียดโจทก์จะได้นำเสนอศาลในชั้นพิจารณาต่อไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 27 เมษายน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเจ็ดได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดกฎหมายอาญาต่างกรรมต่างวาระ กล่าวคือ ในระหว่างที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย กำลังดำเนินการสอบสวนเรื่องที่โจทก์ถูกกล่าวหาอยู่นั้น จำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันกล่าว เขียนและโฆษณาตีพิมพ์ข้อความใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อประชาชนโดยทั่วไป ดังนี้หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2551 หน้า 1 และ 14 มีข้อความว่า "ให้ออกเสรีฯ สอบเพิ่ม 4 คดี....ผบก.น.9 ให้การวันราชวัลลภ รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันนี้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยชุดแรกได้เรียก พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ มีเพียร ผบก.น.9 ไปให้ปากคำ กรณีเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2550 ซึ่งเป็นวันราชวัลลภ มีพระราชพิธีสวนสนามสาบานตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับทรงรับการถวายความเคารพจาก ผบ.ทุกเหล่าทัพ และหน่วยทหารรักษาพระองค์ ซึ่งพบว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางรายไม่ได้เข้าร่วมพิธี แต่กลับปรากฏตัวในงานเปิดสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพย่านถนนพระราม 2 ในพื้นที่ บก.น.9 อันเป็นพฤติกรรมไม่บังควร"หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 12 เมษายน 2551 หน้า 1 และ 15 มีข้อความว่า "...เรียกสอบเสี่ยสปา เผยให้การยอมรับเสรีร่วมเปิดร้านในวันที่ 2 ธ.ค. 50 กก.สอบสวนมุ่งปมไม่ไปราชวัลลภ ...กก.สอบวินัยเดินหน้าสอบประเด็นไม่ไปร่วมพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณใน "วันราชวัลลภ" เสี่ยนวดสปารุดให้ปากคำอัยการ ยอมรับเสรีเดินทางไปร่วมงานวันเปิดร้านจริงหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2551 ในหน้าที่ 1 และ 14 พาดหัวข้อข่าวว่า "กก.สอบเสรีปมใหม่ ไม่บังควร ช่วงประทับศิริราช เรียกผบช.น.ให้ปากคำ ระบุไม่ไปถวายอารักขาวันในหลวงเสด็จฯ กลับ "อัศวิน ขวัญเมือง" ผบช.น.ให้การยัน "เสรีพิศุทธ์" มาแค่ครั้งเดียว ช่วงที่ในหลวงทรงพระประชวรประทับที่ศิริราช วันเสด็จฯ กลับให้โทร.แจ้งนายเวรแล้ว แต่บอกว่าไม่มาหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับลงวันที่ 12 เมษายน 2551 ในคอลัมน์เหยี่ยวถลาลม หัวข้อ "นายตำรวจใหญ่" และมีข้อความว่า "ผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย ใหญ่จริงไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ ผู้เป็นใหญ่ด้วยฐานะตำแหน่ง ด้วยเปลือกนอกทั้งหลาย ใหญ่ไม่ได้ ถ้าไม่รู้แม้แต่ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ฯลฯข้อความที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันให้ข่าวใส่ความโจทก์ต่อหนังสือพิมพ์ข่าวสดและหนังสือพิมพ์มติชนดังกล่าวข้างต้นว่า โจทก์ไม่ยอมไปร่วมถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่พระองค์ท่านทรงพระประชวร ประทับที่โรงพยาบาลศิริราช โดยโจทก์เป็นคนไม่ดีของสังคม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ยอมให้เข้าร่วมพระราชพิธีสวนสนามสาบานตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพลในวันราชวัลลภนั้น ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น
เพราะความจริงแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราชนั้น โจทก์ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการสำคัญที่อื่นตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตามที่ได้กำหนดนัดล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ก็ทราบดีว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่สามารถเดินทางมาถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่เสด็จพระราชดำเนินกลับจากโรงพยาบาลศิริราชได้ เพราะโจทก์ไปปฏิบัติราชการสำคัญที่อื่นก่อนหน้าแล้ว อีกทั้งก่อนที่โจทก์จะเดินทางไปปฏิบัติราชการที่อื่นโจทก์ยังได้มอบหมายงานให้ข้าราชการตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันให้ข่าวต่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราช จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์แจ้งไปยังนายเวรของโจทก์ แต่ได้รับคำตอบว่าโจทก์ไม่ยอมมา โดยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถวายความปลอดภัยแทนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด จึงเป็นการใส่ร้ายใส่ความโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายส่วนกรณีที่โจทก์ไม่ได้เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2550 เวลา 17.00 นาฬิกา ณ พระลานพระราชวังดุสิตนั้น เป็นเพราะห้วงเวลาเดียวกัน โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องเป็นประธานในพิธีต่างๆ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เช่นเดียวกัน ซึ่งจำเลยทั้งเจ็ดก็ทราบดีแต่จำเลยทั้งเจ็ดต้องการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงกล่าวหาโจทก์ว่า ที่โจทก์ไม่ไปร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2550 ณ พระลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 เวลา 17.00 นาฬิกา เป็นเพราะโจทก์ขาดความรับผิดชอบ ไม่จงรักภักดี ละทิ้งหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มัวแต่ไปสนุกสนานกับเพื่อนฝูง โดยไปร่วมงานเปิดร้านอาหารและสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ชื่อ "มายแคร์" ย่านพระราม 2 ของนายบุญยงค์ กมลเลิศวรา มีการนำภาพถ่ายการไปร่วมงานดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร "หยดน้ำ" เพื่อเป็นหลักฐานด้วยโจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ข่าวใส่ความโจทก์ในทำนองว่า โจทก์มีเจตนาละเลยเพิกเฉย ไม่ไปเข้าร่วมพิธีดังกล่าว เพราะโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 เกรงกลัวว่าจะถูกย้ายออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้บัญชาการทุกคนพึงปรารถนาส่วนจำเลยที่ 2 เคยถูกโจทก์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยมาก่อน และจำเลยที่ 3 ก็ถูกโจทก์เสนอให้ย้ายออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นจเรตำรวจ (สบ 8) จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่พอใจโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงร่วมกันใส่ร้ายโจทก์โดยยัดเยียดข้อหาร้ายแรงว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการกล่าวชี้นำให้ประชาชนและสังคมทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์เป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี เป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งสูงสุด ยังขาดความจงรักภักดี ละทิ้งหน้าที่ไม่ไปถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นภารกิจสูงสุดดังนั้นเมื่อประชาชนและสังคมทั่วไปได้อ่านข้อความที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ข่าวและที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตีพิมพ์ข้อความยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ไปถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกลับจากโรงพยาบาลศิริราช อันเป็นการไม่บังควรยิ่ง และโจทก์ไม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเองและสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2550 ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์จงใจละเลย ละทิ้ง หรือละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด นอกจากจะเป็นการร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร อันเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังเป็นการร่วมมือกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณทางทำมาหาได้และทางเจริญของโจทก์ในหน้าที่ราชการและทางสังคมอีกด้วยการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นการร่วมกันกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชาชน และสังคมทั่วไปที่รู้จักโจทก์ เข้าใจได้ว่าโจทก์จงใจละเลย ละทิ้งหรือละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่แสดงออกถึงความจงรักภักดี อันเป็นการกระทำที่ไม่บังควร และโจทก์เป็นคนไม่ดีในสังคมโจทก์มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติบ้านเมือง หลังจากที่ได้เกษียณอายุราชการแล้วในเดือนกันยายน 2551 ด้วยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดทั้งองค์กรอิสระต่างๆ การกล่าวใส่ความโจทก์ของจำเลยทั้งเจ็ดในคดีนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในชื่อเสียงของโจทก์ที่ได้เพียรพยายามสะสมมาตลอดเกือบ 40 ปีโจทก์จึงขอคิดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากจำเลยทั้งเจ็ดเป็นเงินจำนวน 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นเหตุคดีนี้เกิดที่แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลนี้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดต่อศาลนี้โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ เพราะประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเจ็ดด้วยตนเองควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
หน้า 2


http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROd01ERTJNVEEzTURrMU1RPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBd09DMHdPUzB3Tnc9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น: