ใครสมควรเป็นนายกของพวกเรา?

นายกสมควรลาออกหรือไม่

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

'อภิรักษ์'ชนะขาด ผู้ว่าฯกทม.อีกสมัย

'อภิรักษ์'ยันผลักดันนโยบายตามที่แถลงไว้
วันนี้(6 ต.ค.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. แถลงเป็นครั้งแรก หลังคะแนนนำขาดคู่แข่งเกือบเท่าตัว โดยยืนยันว่าพร้อมที่จะผลักดัน หากได้รับการรับรอง ก็พร้อมที่จะผักดันนโยบายตามที่ได้แถลงไว้ และยืนยันว่าจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต 'ผมเรียนยืนยันกับพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนได้ให้โอกาสผม และพรรคประชาธิปัตย์ ผมเองได้ยึดมั่นการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ถูกร้องเรียน ก็อยากเรียนให้พี่น้อง ประชาชน ได้เห็นถึงการทำงานที่จะเข้าไปผลักดัน ในการตรวจสอบโครงการด้วยความตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ในการทำงานในอนาคต อีก 4 ปีข้างหน้า จะผลักดันกลไกการตรวจสอบ ทั้งกลไกการตรวจสอบในภาคประชาชน การผลักดันเรื่องของกระบวนการความโปร่งใสที่จะสามารถทำให้ประชาชนได้เห็นการทำงานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้' นายอภิรักษ์ กล่าว.


http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=178828&NewsType=1&Template=1

นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์

5131601387 sect 02

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

พปช.สรุปนายกฯใหม่ดัน'สมชาย'

พปช.สรุปนายกฯใหม่ดัน'สมชาย'
พรรคร่วมรับไม่มีปัญหากองทัพต่อสายลอนดอนให้'สมพงษ์'ขึ้นควบ กห. กองทัพสายตรง"ลอนดอน"เบรกสถานการณ์หวั่นลุกลาม แนะให้"สมพงษ์ อมรวิวัฒน์"ขึ้นนายกฯ พร้อมคุมกลาโหม ขณะที่ พปช.ตั้งวงถกเครียดหาตัวนายกฯคนใหม่แทน สรุปหวยออกที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งใหม่ พร้อมส่งแกนนำประสานทุกกลุ่มทั้งในและนอกพรรค ด้านพรรคร่วมเปรยไม่มีปัญหา ส่วนกลุ่มเพื่อนเนวินขู่มั่วนิ่มอาจเจอเหตุการณ์แบบวันที่ 12 ก.ย.อีกรอบ “เทพเทือก” หนุน “สมชาย” ดูดีกว่าเพื่อน แม้จะเป็นน้องเขยแต่ไม่เคยเห็นทำอะไรเพื่อ “แม้ว” สักอย่าง ด้าน “ชวน”ได้ทีเหน็บใหญ่ อ้าง “มาร์ค” ชี้ทางออกให้แล้วไม่ฟัง เผยกลุ่มข้างถนนอาจออกมาอีกถ้าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรม “บิ๊กป๊อก” ยันทหารไม่แทรกแซง แนะจบความขัดแย้งได้ประเทศเจริญ กองทัพเชียร์ “สมพงษ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่กระทรวงกลาโหม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีมีปัญหา จนมีกระแสข่าวว่าทหารอาจจะออกมาเคลื่อนไหวนั้น ล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ได้โทรศัพท์ไปหารือกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ความวุ่นวายในการเลือกตัวนายกฯ ซึ่งทางเหล่าทัพเห็นว่าสถานการณ์แบบนี้คนที่จะมาทำให้เย็นและเบาบางลงไปน่าจะเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เห็นด้วย รายงานข่าวแจ้งว่า หากนายสมพงษ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯก็จะควบตำแหน่ง รมว. กลาโหมด้วย เนื่องจาก ครม.ชุดใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพื่อให้สะดวกต่อการสานต่อนโยบาย ส่วนกระแสข่าวผู้นำกองทัพไป กดดันพรรคพลังประชาชนไม่เอานายสมชาย น่าจะเป็นข่าวลือมากกว่า ที่กองทัพทำได้อย่างมากก็มาหารือกัน และเมื่อเสนอความเห็นไปแล้วจะทำหรือไม่ก็ไปบังคับไม่ได้ พรรคร่วมก็หนุนเช่นกัน รายงานข่าวจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแจ้งว่า ในการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านพักนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในฐานะแกนนำพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เมื่อช่วงดึกวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังนายสมัครประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้พูดคุยกันถึงบุคคลที่จะเป็นนายกฯคนใหม่ ต้องเป็นคนที่มีเงื่อนไขน้อยที่สุด ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ น่าจะเหมาะสมที่สุดเวลานี้ เนื่องจากมีประสบ การณ์ทางการเมืองมากที่สุดในบรรดา 3 ส. “นายสมพงษ์มองการเมืองทะลุปรุโปร่งมากกว่าคนอื่น พรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชาชนให้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และเขาก็ทราบปัญหานี้ เชื่อว่าทางพรรคพลังประชาชนจะตระหนักถึงปัญหาดี และคงจะเลือกตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมเพื่อรักษาสถานภาพการเป็นรัฐบาลต่อไป” แหล่งข่าวในพรรคร่วมกล่าว เตือนผิดฝาผิดตัวเปลี่ยนขั้ว แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ศึกษาธิการ มีภาพเป็นนอมินีของ พ.ต.ท. ทักษิณอย่างชัดเจน อาจจะถูกกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นอย่างมาก ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการ รมว.คลัง ก็มีภาพเป็นนอมินีของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ส่วนแนวคิดที่จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองพรรคร่วมยังไม่คิด แต่ถ้ามีการเสนอชื่อนายกฯที่ผิดฝาผิดตัวมากเกินไปโอกาสสลับขั้วก็เกิดขึ้นได้ ขณะที่แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. 3 คนในกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ ไปร่วมเซ็นชื่อเข้าประชุมสภาว่า ยอมรับว่าขณะนี้ความคิดเห็นในพรรคแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนายสุชาติ และกลุ่มใหญ่ที่มีนาย สุวิทย์ คุณกิตติ และนายพินิจ จารุสมบัติ เป็นแกนนำ ยอมรับว่ากลุ่มนายสุชาติยังหนุนนายสมัครอยู่ ก็ต้องมีการเจรจากันเพื่อกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวฝ่าวิกฤติครั้งนี้ พปช.ตั้งวงหาตัวนายกฯ สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของพรรค พลังประชาชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคได้เข้าหารือกันเพื่อพิจารณาผู้ที่เหมาะสมจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และน่าสังเกตว่ามีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมหลายคน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปถึง ตัวบุคคลว่าจะเป็นใคร คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในวันที่ 15 ก.ย. เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคเสนอให้มีการนิรโทษกรรม 9 แกนนำพันธมิตรฯ แลกกับการยุติชุมนุม นายวิรุฬกล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ เผยต่อสายขอความเห็น “แม้ว” นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ไม่สามารถจะพูดคุยอะไรได้ เพราะไม่มีหน้าที่อะไรเกี่ยวข้องกับพรรค เป็นเพียงมาพูดคุยในฐานะเพื่อนเก่า และวงที่ตนเข้าร่วมหารือไม่ได้ตัดสินคนที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ตนไม่แน่ใจว่าวงที่ตัดสินใจไปพูดคุยอยู่ที่ไหน ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า มีการพูดคุยกันหลายวง เพื่อพิจารณาคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯ เมื่อถามว่า ในฐานะโฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงความเห็นถึงสถานการณ์หรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ติด ตามข่าวในเมืองไทยตลอด หลายคนก็โทรศัพท์สอบถามไป แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ชี้ขาด “สมชาย” ยอมหลีกทางให้ แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชนเปิดเผยว่า บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตอนนี้เหลือเพียง 2 คนคือนายสมชายและนายสมพงษ์ เพราะ นพ.สุรพงษ์ได้ขอถอนตัวไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่านายสมชายจะขอถอนตัวตามไปอีกคน อย่างไรก็ตามในการหารือกันนั้นได้มีการพูดถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องดูแล ส.ส. ถ้านายสมพงษ์เป็นนายกฯแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือของแกนนำพรรคพลังประชาชนนั้น ได้มีการวิเคราะห์กันว่าไม่ว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นนายกฯก็ยังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯเหมือนเดิม ทางออกเดียวจึงต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็วเพื่อโยกย้ายข้าราชการ จากนั้นก็ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ความชอบธรรมของกลุ่มพันธมิตรฯหมด ไปจนต้องถอนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาล แต่การยุบสภาจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคไม่พอใจ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทางออกให้รอบคอบ นิ่งสงบสยบเคลื่อนไหว นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการ รมว. ยุติธรรม หนึ่งในแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐ มนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบที่จะเสนอชื่อเข้าสู่การประชุมสภา ในวันที่ 17 ก.ย. ว่า ยังไม่แน่นอน จะต้องมีการประชุมพรรคก่อน ตนก็ต้องเงียบวางตัวนิ่งไม่มีกลุ่มไหนและไม่อินังขังขอบแล้วแต่ทางพรรคจะพิจารณา นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า กรรมการบริหารจะพิจารณาผู้ที่เหมาะสมในวันที่ 15 ก.ย. อาจจะมี 3 ส. หรือมากกว่าก็ได้ จากนั้นจะส่งเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นวันที่ 16 ก.ย. จะนำรายชื่อที่ได้ไปให้พรรคร่วมรัฐบาล หากเรียบร้อยก็เสนอต่อที่ประชุมสภาวันที่ 17 ก.ย. เลย ซึ่งพรรคร่วมก็ไม่ขัดข้อง เกมพลิก “สมชาย” เข้าวิน เย็นวันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมของแกนนำระดับสูงของพรรคได้ข้อสรุปออกมาว่า จะเสนอชื่อนายสมชายเป็นนายกฯ คนใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้แกนนำคนหนึ่งไปประสานกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อขอให้สนับสนุนนายสมชาย ซึ่งหลายกลุ่มก็ตอบรับมาแล้ว ว่าไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้เรียกร้องให้แกนนำกลุ่มต่าง ๆ มาประชุมโดยพร้อมกัน ไม่ใช่ประชุมแค่แกนนำบางส่วนแล้ว ออกเป็นมติ ซึ่งหากไม่มีความชัดเจน การเลือกตั้งนายกฯในสภาวันที่ 17 ก.ย. อาจจะเหมือนวันที่ 12 ก.ย. ก็ได้ สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนนายสมชายนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เพราะต้องการได้คนที่ไว้ใจได้มากำกับดูแลรัฐบาล เพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจอยู่ไม่นาน อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังพรรคร่วมทุกพรรคแล้ว ซึ่งทุกพรรคก็ขานรับไม่มีปัญหา “หมัก” อยู่บ้านเล่นกับหลาน สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพักของนายสมัครบรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีบุคคลระดับแกนนำพรรคหรือบุคคลภายนอกเข้าพบ จากการสอบ ถามคนในบ้านทราบว่า นายสมัครออกจากบ้าน พักตั้งแต่เช้ามืด และกลับเข้ามาเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อพักผ่อนและเล่นกับหลาน ๆ ในบ้านด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มและอารมณ์ดี สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยรอบบ้านพักของนายสมัคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว กระจายกำลังอยู่บริเวณต่าง ๆ จำนวนประมาณ 8 นาย จวก ปชป.พวกฉวยโอกาส นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราช สีมา แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเพื่อนเนวินกับกลุ่มอีสานพัฒนาและ ส.ส. เหนือยุติแล้ว อะไรที่เป็นความผิดพลาดจะไม่มองย้อนไปในอดีต เราปรึกษาหารือและเห็นว่าจะต้องเดินหน้าไปด้วยความเป็นเอก ภาพ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องอาศัยความเป็นปึกแผ่น นายบุญจงยังกล่าวตำหนิพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯว่า เป็นการถือโอกาสทั้งที่รู้ว่าองค์ประชุมไม่ครบ คงหวังว่าจะให้นับองค์ประชุมแล้วขานชื่อซึ่งจะใช้ เวลาเป็นชั่วโมง ระหว่างนั้นก็จะประสานล็อบบี้กับบางพรรคเพื่อให้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนว่าการประชุมเลือกนายกฯ วันที่ 17 ก.ย.จะต้องมีความชัดเจน ที่สำคัญพรรคต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “ชวน” กรีดเตือนแล้วไม่ฟัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯว่า ฝ่ายค้านเคยบอกแล้วว่าการนัดประชุมสภาภายใน 3 วันนั้นไม่เหมาะสม ต้องให้เวลาในการพิจารณาการคัดเลือกตัวบุคคล แต่คงเป็นความกลัวว่าจะมีใครแย่งตั้งรัฐบาล จึงทำให้เกิดความลุกลี้ลุกลน ในที่สุดก็ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ แต่เชื่อว่าในวันที่ 17 ก.ย. น่าจะเลือกได้ “การไม่รับตำแหน่งนายกฯ ของนายสมัครคงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะนายสมัครยังเป็น ส.ส. อยู่ การเข้าร่วมประชุมสภาของพรรคประชาธิปัตย์ อย่ามองในแง่ลบว่าคิดจะแย่งตั้งรัฐบาล แต่เป็นการเข้าร่วมประชุมตามที่ประธานสภาได้เรียกประชุม ถ้าไม่เข้าร่วมประชุมคงเป็นเรื่องที่ไม่ดี และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่มีการเปลี่ยนขั้วอย่างแน่นอน” นายชวนกล่าว ไม่การันตีกลุ่มข้างถนนยุติ ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรที่มีแนวโน้มว่าพรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อบุคคล 1 ใน 3 ส. เป็นนายกฯ นายชวนกล่าวว่า รัฐบาลสามารถคิดได้แต่จะปฏิบัติได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ไม่สามารถวิจารณ์ได้ ต้องรอให้เห็นตัวบุคคลก่อน เมื่อถามต่อว่า การเมืองขณะนี้จะหาทางออกอย่างไร เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯยังไม่ยอมรับนายกฯที่มาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล นายชวนกล่าวว่า ทางออกมีอยู่หลายทาง ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่ให้ยุบสภาถือเป็นทางออกที่ดีจะสามารถสลายความวุ่นวายได้ ส่วนการเสนอการเมืองใหม่นั้น นายชวนกล่าวว่า การที่จะเรียกการเมืองใหม่หรือเก่าไม่มีผลอะไร เพราะเป็นเพียงคำพูด ต้องดูถึงต้นตอของปัญหาที่ธุรกิจเข้ามาครอบงำการเมืองใช้เงินเข้ามาซื้อเสียง ทำให้ผลเลือกตั้งเกิดความไม่ชอบ ธรรม และนำมาอ้างว่าเป็นความชอบธรรม จึงต้องสกัดธุรกิจการเมืองให้ได้ ต้องหาทางเปลี่ยนแปลง หากทำได้ก็เกิดความชอบธรรมมากขึ้น ใครที่คิดจะล้มก็ทำได้ยาก อย่างไรก็ตามตราบใดที่ไม่เกิดความชอบธรรม แค่ชนะการเลือกตั้งก็ยังมีโอกาสที่จะมีกลุ่มคนมาเรียกร้องขอความชอบธรรมได้ “เทพเทือก”เชื่อความขัดแย้งไม่จบ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัครตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯ ว่า นายสมัครคงตระหนักแล้วว่ากระแสของประชาชนเป็นอย่างไร ที่สำคัญ การที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนมากมี ปฏิกิริยาไม่รับนายสมัคร จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชุมสภาไม่ได้นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. เหล่านั้นถูกแรงกดดันจากประชาชนมามาก เมื่อถามว่า ข่าวการเสนอชื่อ 1 ใน 3 ส. เป็นนายกฯ จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มพันธมิตรฯลดลงหรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหายังไม่จบและความขัดแย้งยังไม่ลดลง ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังพยายามมีบทบาทครอบงำการเมืองในประเทศไทยอยู่ การที่พรรคพลังประชาชนเกิดความขัดแย้งแล้วเรื่องจบเรียบร้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโทรศัพท์สายตรงจากกรุงลอนดอน แย้ม “สมชาย” ดูดีกว่าคนอื่น “กระแสสังคมยังกังวลว่า ถ้ารัฐบาลยังเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ปัญหาก็คงไม่จบ ในใจผมคิดว่านายสมชายน่าจะดูดี ส่วนนายสมพงษ์ยังมีความกังวลจากการสั่งย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม จากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นเลขาธิการ ปปท. เพราะต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เหมือนเป็นการทำตามคำสั่งและรักษาผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากคงคิดเช่นนี้ แม้นายสมชายจะเป็นน้องเขย พ.ต.ท. ทักษิณ แต่ความที่เคยเป็นผู้พิพากษาและปลัดกระทรวงยุติธรรม ผมไม่เคยเห็นว่าทำอะไรที่เป็นการรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ” นายสุเทพกล่าว เมื่อถามถึงการที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯในการประชุมสภา นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่อยากโต้แย้งกับนายบรรหาร แต่ตนขอฝากบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำเป็นปกติ ไม่ได้ทำอะไรผิดทำนอง คลองธรรม ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้นัดประชุมสภา เพื่อเลือกนายกฯ เราทักท้วงแล้วว่าเร็วเกินไปแต่ยังดึงดันเรียกประชุม เมื่อถึงเวลาการประชุมเราก็เข้า ยืนยันว่าสิ่งที่พรรคไม่ได้ทำอะไรผิด อัด “อ๋อย” จุ้นไม่เข้าเรื่อง นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเสนอชื่อนาย อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในสภานั้น ไม่ใช่เป็นเกม การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย การวิจารณ์ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่มาจุ้นจ้านถ้าเทียบเป็นกีฬาฟุตบอลก็ถือว่าไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นผู้ชมหรือผู้แข่งขัน เพราะไม่มีตั๋ว แต่ยังมาวิจารณ์น่าละอาย มากกว่า ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว อีกว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่ทำให้การประชุมสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาล่ม ได้แก่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ที่ลุกลี้ลุกลนเรียกเปิดประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกฯ และ 2.พรรคพลังประชาชนที่ดึงสถาบันนิติบัญญัติมาแก้ปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งนายกฯ อีกทั้งยังมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยนายสมชายได้มายืนหน้าห้องประชุม และกวักมือเรียก ส.ส. ให้ออกนอกห้องประชุม ถือเป็นครั้งแรกที่สภาล่ม เพราะรัฐบาลวอล์กเอาต์ จะโทษฝ่ายค้านไม่ถูกต้อง “ป๊อก” แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 ถึงการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า การประกาศใช้ได้ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมมาก จึงคิดว่าน่าจะพิจารณายกเลิก เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนกว่าจะมีการเลือกนายกฯคนใหม่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่า จะเห็นเหมาะสมประการใด เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่มอีก พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เท่าที่ได้เตรียมแผนไว้คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทหารยันไม่แทรกแซง เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ทหารอดทนต่อสถานการณ์ทางการเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ทหารเป็นหลักของบ้านเมือง ยิ่งในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเราต้องประกันความมั่นคงของประเทศชาติ หากผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจและเชื่อมั่นว่าตนจะไม่นำพาเขาไปในทางที่ผิด จึงเป็น ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เข้าไปยุ่ง เมื่อถามว่า การเมืองยังหาทางออกให้ กับสถานการณ์ไม่ได้ กองทัพจะมีจุดยืนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงเหมือนเดิม การเมืองพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ เราคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือแทรกแซง เมื่อถามว่า มีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าทหารบางกลุ่มไปล็อบบี้ทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลแห่งชาติเกิดยาก เมื่อถามว่า หากตกลงกันไม่ได้จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติคงยากที่จะเกิดขึ้น คนไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะไม่มีฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบถ่วงดุล ส่วนนายกฯ คนนอกยิ่งยากเพราะเกี่ยวกับรัฐธรรม นูญด้วย เมื่อถามว่า ขณะนี้พอจะเห็นนายกฯ คน ใหม่หรือยัง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงจะต้องมีได้แน่นอนในจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ประชาชนฝากความหวังให้กองทัพแก้ปัญหา พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกคนในประเทศเราหนักทั้งนั้น หนักที่จะต้องหาทางสร้างความเข้าใจทุกฝ่าย เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีประชาชนพยายามปลุกให้ทหารออกมาปฏิวัติ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า 1.ถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็นแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย 2.เมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกน่าส่งผลกระทบสูงกว่าที่จะรับได้ จึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ ข้าราชการทั้ง 3 เหล่ามีความเข้าใจสถานการณ์ ทุกคนพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี จบความขัดแย้งประเทศเจริญ เมื่อถามว่า พอใจหรือไม่ที่การโหวตเลือก นายกฯ เลื่อนออกไป เพราะได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปบ้าง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตนรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เมื่อถามว่า หากได้นายกฯ เร็วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า น่าจะดีขึ้น เพราะเราคงทนสุญญากาศไม่ได้ ถ้าสามารถจบเรื่องความขัดแย้งได้ และให้ประเทศเดินหน้าไปได้จะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อถามว่า นายกฯ คนใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่ทุกคนเห็นว่า หากมีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องเป็นวาระเร่งด่วน หาก ตรงนี้จบได้ประเทศเราเดินหน้าได้แน่นอน เมื่อถามว่า จุดยืนของกองทัพต่อผู้ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม ต้องเป็นอดีตนายทหารหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมานายสมัครก็ดูแลและดำเนินการให้กระทรวง กลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ เมื่อถามว่า ต้องกระซิบทหารก่อนหรือไม่ว่าจะนำใครมาเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น

“เสรี” แก้ต่างให้ “จรัญ” ส่วนการเมืองอื่นนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม สสร.50 อดีตรองประธาน ส.ส.ร. กล่าวถึงกรณีมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่านายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 207 และ 209 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในมหา วิทยาลัยรัฐและเอกชน ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามคล้ายกับนายสมัคร ที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากการทำรายการชิมไปบ่นไปว่า ถึงแม้ทั้ง 2 กรณีจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ในข้อเท็จจริงแล้วแตกต่างกัน “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเห็นว่าการสอนหนังสือ ถือเป็นเสรีภาพทางวิชาการ รัฐธรรมนูญมาตรา 50 ให้การรับรองไว้ ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ การสอนหนังสือดังกล่าวเป็นลักษณะอาจารย์พิเศษ ไม่ใช่ลูกจ้าง” นายเสรีกล่าว เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญจะครอบคลุมไปถึงการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจด้วยหรือ นายเสรีตอบว่า ถึงจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแต่ก็เป็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ การทำหน้าที่สอนหนังสือไม่มีเป้าหมายจะทำเป็นธุรกิจมุ่งหาผลกำไร.

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176709&NewsType=1&Template=1

นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์

5131601387 sec.02

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

สภาล่ม-พปช.แตก 'สมัคร' ถอย เลื่อนโหวต 17 ก.ย.

สภาล่ม-พปช.แตก 'สมัคร' ถอย เลื่อนโหวต 17 ก.ย. [13 ก.ย. 51 - 03:21]






ยังต้องจับตากันแบบนาทีต่อนาทีสำหรับการเจรจาต่อรองทางการเมือง หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชนที่กลุ่ม ส.ส.ในสังกัดนายเนวิน ชิดชอบ พยายามผลักดันนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯอีกสมัย ขณะที่ ส.ส.กลุ่มอื่นรวมพลังคัดค้านอย่างหนัก และสอดรับกับท่าทีของ 5 พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯนัดโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่เอานายสมัคร เพราะเกรงจะทำให้สถานการณ์วิกฤติถึงจุดแตกหัก
3 ส. ดอดพบ “เติ้ง” ยืนยันชื่อ “สมัคร”
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ถึงความเคลื่อนไหว ในการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำพรรคพลังประชาชน เข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่บ้านจรัญสนิทวงศ์ 55 เพื่อแจ้งมติพรรคพลังประชาชนว่าจะเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับปากแล้วว่าจะให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนสนับสนุนนายสมัครต่อไป แต่นายบรรหารให้ข้อสังเกตว่าน่าจะเสนอชื่อบุคคลอื่น หากเป็นนายสมัครเกรงว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นพรรคชาติไทยต้องประชุม ส.ส.ก่อนตัดสินใจ และขอให้พรรคพลังประชาชนควบคุม ส.ส.ให้เป็นเอกภาพ อย่าให้เกิดกลุ่มงูเห่า ไม่เช่นนั้นพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ สบายใจ
แกนนำพรรคร่วมฯร่วมวงถกตลอดคืน
หลังจากที่แกนนำพรรคพลังประชาชนเดินทางกลับ ปรากฏว่าในช่วงดึกนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ แกนนำกลุ่มพญานาค รวมทั้งนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เดินทางเข้าพบนายบรรหาร เพื่อร่วมกำหนดท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีการต่อสายโทรศัพท์ถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ ได้เดินทางมาร่วมหารือ โดยต่างคำนึงถึงกระแสสังคมเพราะเห็นว่าหากพรรคพลังประชาชนเสนอชื่อนายสมัครจริง พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เดินทางเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เพราะจะมีผลกระทบตามมามากมายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ และมอบหมายให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย ประสานงานไปยังพรรคประชาธิปัตย์ไม่ ให้เข้าร่วมประชุมสภาฯด้วย เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ เมื่อหารือกันจนได้ข้อยุติประมาณตีสาม บรรดาแกนนำพรรคได้โทรศัพท์แจ้ง ส.ส.ลูกพรรคไม่ให้เดินทางไปประชุมสภาฯตามที่กำหนดไว้เวลา 09.30 น. วันที่ 12 ก.ย. โดยในส่วนของพรรคชาติไทยได้นัด ส.ส.ของพรรคประชุมกันเวลา 07.30 น. แต่เปลี่ยนสถานที่จากสภาฯไปเป็นที่พรรคชาติไทยแทน
กลุ่มเชียร์ “สมัคร” พรึบหน้าสภา
สำหรับบรรยากาศที่หน้ารัฐสภา เมื่อเวลา 06.00 น. มีกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนพรรคพลังประชาชนและนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 จากจังหวัด ต่างๆอาทิ อุดรธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นนทบุรี และ กทม. จำนวนกว่า 2,000 คน นำโดยนายณรงค์ศักดิ์ มณี ประธานชมรมคนรักประชาธิปไตย นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรธานี นายอุทัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายประชาชนปกป้องประชาธิปไตย (คปป.) และนายชิณวัตร หาบุญพาด กรรมการบริหารแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทยอยเดินทางมารวมตัวที่หน้ารัฐสภา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ สวมเสื้อสีแดง พิมพ์ข้อความ “รักทักษิณ” กับเสื้อสีขาวพิมพ์ข้อความ “ปกป้องประชาธิปไตย” เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต่างสวมผ้าพันคอสีต่างๆเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มมวลชนมาจากจังหวัดใด เช่น ผ้าพันคอสีแดงจาก จ.อุดรธานี ผ้าพันคอสีขาวจาก จ.ขอนแก่น และ กทม. ผ้าพันคอสีเขียวจาก จ.ร้อยเอ็ด ผ้าพันคอสีชมพูจาก จ.นนทบุรี นอกจากนี้ นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ได้นำรถกระจาย เสียงมาช่วยสนับสนุนการชุมนุม ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ ปราศรัยโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่ต่อต้านนายสมัคร
ตร.เตรียมรับมือม็อบชนม็อบ
ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลกระจาย ตรึงกำลังบริเวณรัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธรภาค 1, 2 และ 3 ประมาณ 450 นาย ยืนตั้งแถวหน้ากระดาน ใช้โล่เป็นเครื่องกำบังเท่านั้น ส่วนบริเวณภายในมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมอาวุธครบมือวางกำลังเต็มพื้นที่ รวมถึงภายในอาคารต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ ป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนายสมัคร กับกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาเครือข่าย YOUNG PAD ที่ประกาศจะมาชุมนุมต่อต้านนายสมัคร อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกำลังฝ่ายทหาร จำนวน 2 กองร้อยที่มีการประสานจะมาร่วมปฏิบัติหน้าที่กับตำรวจนั้น ไม่ได้เข้ามาเสริมกำลังแต่อย่างใด ขณะที่ กทม.นำรถสุขามาจอดบริเวณใกล้เคียงคอยอำนวยความสะดวก ต่อมา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. รักษาการ ผบช.น. เดินทางมาตรวจความเรียบร้อย พร้อมเปิดเผยว่า มั่นใจว่าการประชุมสภาฯจะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวาย เพราะได้มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวด ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในเขตรัฐสภาได้
“จำลอง” เบรก นศ.รวมพลหน้ารัฐสภา
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า กลุ่มนักศึกษาเยาวชนกู้ชาติมาขอหารือ กับแกนนำพันธมิตรฯ เรื่องการเคลื่อนไหวไปที่หน้ารัฐสภา ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯได้หารือกันเมื่อคืนวันที่ 11 ก.ย.และมีมติเอกฉันท์ว่า ไม่ให้กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เพราะทราบว่ารัฐบาลส่งคนจากภาคอีสานและ จ.นนทบุรีมาทุบตีพวกเรา เพื่อให้ผลออกมาว่าเรายกคนไปตีกันที่หน้าสภา ทั้งที่กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมกันอย่างสันติอหิงสามาตลอด 111 วัน และจะดำเนินจุดมุ่งหมายเดิมต่อไป ดังนั้น หลานๆจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่ประกาศว่าจะไปหน้ารัฐสภา จะทำกิจกรรมพิเศษแสดงออกทางศิลปะทางการเมืองที่สะพานมัฆวานฯแทน เราต้องสุขุม รอบคอบ ขอประกาศว่าทั้งเด็กผู้ใหญ่จากมัฆวานฯ และทำเนียบรัฐบาลจะไม่ไปหน้ารัฐสภาเด็ดขาด
ฮือไล่ปาขวดน้ำใส่พระสงฆ์
ต่อมาเวลา 09.40 น. นายสมาน ศรีงาม ประธานคณะธรรมยาตรา กอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติกอบกู้รักษาอธิปไตยของชาติด้วยอำนาจประชาธิปไตยของปวงชน (คก.ปท.) รักษาการประธานคณะกรรมการบริหาร ขบวนการศาสนาเพื่อมนุษยชาติ พร้อมด้วยพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ประธานสภาธรรมาธิปไตย ผู้อำนวยการสถาบันธรรมะประชาธิปไตย เจ้าอาวาสวัดตะล่อม และพระสงฆ์จำนวน 25 รูป เดินทางมายื่นหนังสือให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชาชน สนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา สร้างประชาธิปไตย หยุดวิกฤติชาติสนองพระราชดำรัส รู้รักสามัคคี แต่ระหว่างกลุ่มธรรมยาตราเดินทางกลับได้ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายสมัครอยู่ที่หน้ารัฐสภา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างไม่พอใจ พากันตะโกนด่าทอปาขวดนํ้าใส่คณะสงฆ์ จากนั้นได้มีกลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมชุมนุมประมาณ 20 คน สวมหมวกกันน็อกและถือท่อนไม้ตามไปหวังทำร้ายร่างกาย แต่ถูกนายณรงค์ศักดิ์ มณี ประธานชมรมคนรักประชาธิปไตย ประกาศห้าม โดยระบุว่าใครไม่เชื่อฟัง ถือว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ และจะจับส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
“เติ้ง” ตรึงลูกพรรคไม่ไปประชุมสภาฯ
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆก่อนที่การประชุมสภาฯจะเริ่มขึ้นนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.00 น. บรรดา ส.ส.พรรคชาติไทยทยอยเดินทางเข้าไปที่พรรคเพื่อประชุมหารือกำหนดท่าที โดยก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนยืนยันเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ขอหารือกันในพรรคก่อน ส่วนที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ประชุม ส.ส.จากเดิมที่กำหนดที่รัฐสภามาเป็นที่พรรคชาติไทย เพราะกลัวว่าที่รัฐสภาจะยุ่ง รถเยอะ ม็อบก็เยอะ กลัว ส.ส.เข้าไปไม่ได้ มาประชุมกันที่พรรคง่ายกว่า และการเปลี่ยนแผนกะทันหันคนอื่นตั้งตัวไม่ได้ เมื่อถามว่าในสถานการณ์การเมืองขณะนี้พรรคชาติไทยมีทางออกหรือไม่ นายบรรหารตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “มันมีช่องอยู่”
ต่อมาเวลา 09.00 น. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกจากห้องประชุมมาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า พรรคชาติไทยคงไม่ไปประชุมสภาฯแล้ว เพราะยังประชุมพรรคกันไม่เสร็จ จากนั้น นายสมศักดิ์ก็กลับเข้าไปประชุมต่อ
แสดงท่าทีชัดไม่เอา “สมัคร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรหารได้กล่าวในที่ประชุมพรรคว่า สถานการณ์แบบนี้จะยังไม่โหวตเลือกใคร เพราะต้องฟังกระแสของสังคม ดังนั้น ส.ส.พรรคชาติไทยไม่ควรเดินทางไปโหวตเลือกนายกฯในสภาฯ นอกจากนี้มีการประเมินว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงปิดล้อมอยู่ที่หน้าสภาฯ เกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจนทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากสภาฯได้เหมือนกับสมัยพฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 ขณะที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นด้วยว่า ยังไม่ควรไปโหวตเลือกนายสมัคร และการที่พรรคชาติไทยไม่ไปเข้าร่วมโหวตในสภาฯถือเป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าพรรคชาติไทยไม่เอานายสมัคร นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ถึงคนที่มีโอกาสจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯในอนาคต อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน รวมถึงพูดถึงแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติอาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่ควรให้พรรคพลังประชาชนเป็นคนเสนอ ในฐานะพรรคเสียงข้างมาก ไม่ใช่ให้พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาสโหนกระแส
ส.ส.ปชร.รวมตัวที่บ้าน “เสนาะ”
ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคประชาราช 5 คนไปรวมตัว กันที่บ้านเมืองทองธานีของนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช โดยไม่ได้เดินทางไปประชุมสภาฯ ทั้งนี้นายเสนาะกล่าวกับลูกพรรคว่า ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาได้หารือเรื่องการลงคะแนนเลือกนายกฯ เชื่อว่าที่สุดแล้ววันนี้คงไม่ครบองค์ประชุมแน่นอน และไม่สามารถลงคะแนนได้แน่ ส่วนตัวไม่ได้เกลียดชังอะไรนายสมัคร สุนทรเวช แต่ขอเอาชาติบ้านเมืองไว้ก่อนดีกว่า ขณะที่นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช กล่าวว่า พรรคประชาราชยืนยันที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนตามเดิม เพียงแต่อยากให้มีการพิจารณาเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นนายกฯคนใหม่
พผ.-มฌ.-รช.ไม่ร่วมประชุมสภาฯ
อีกด้านหนึ่ง ที่โรงแรมสวนดุสิตเพลส มีการหารือกันของ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน จนกระทั่งใกล้เวลานัดหมายประชุมสภาฯ บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินก็ยังปักหลักที่อยู่ที่โรงแรม มีเพียง ส.ส. 3 คนในกลุ่มของนายสุชาติ ตันเจริญ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายเนวิน ชิดชอบ ที่เดินทางไปที่รัฐสภาและลงชื่อเข้าประชุมสภาฯ ส่วน ส.ส. พรรคมัชฌิมาธิปไตยและ ส.ส.พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาก็เดินทางไปที่รัฐสภาเช่นกัน แต่ไม่เข้าร่วมประชุม
“สมัคร” มาดขรึมใส่นักข่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 08.30 น. รถตู้สีดำยี่ห้อโตโยต้า อัลพาร์ด หมายเลขทะเบียน ศร 3333 ที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ใช้โดยสารเป็นประจำ ได้แล่นเข้ามาในรัฐสภา โดยคนขับรถได้ขับวน 1 รอบก่อนไปจอดที่ลานจอดรถชั้น 2 กลุ่มผู้สื่อข่าวจึงวิ่งตามไปดู เมื่อยืนรออยู่ประมาณ 15 นาที คนขับรถก็เปิดประตูรถให้ดูพร้อมบอกว่านายสมัครไม่ได้นั่งอยู่ในรถ มีเพียงนายตำรวจติดตามนายสมัครเท่านั้น โดยนายสมัครนั่งรถฮอนด้าซีอาร์วี สีฟ้า ของลูกสาว เข้ามาที่รัฐสภา โดยไปจอดที่อาคารวุฒิสภา และเดินลงจากรถด้วยสีหน้าเรียบเฉย เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสัมภาษณ์ นายสมัครก็ไม่ยอมตอบแม้แต่คำถามเดียว ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน เดินทางตามมาติดๆ พร้อมกล่าวเพียงว่า “เดี๋ยวมีอะไรจะแถลง” ก่อนเดินเคียงคู่กับนายสมัครเข้าไปในรัฐสภา
ก๊วนเนวินเริ่มออกอาการเครียด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน นำโดยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รักษาการ รมช.คมนาคม นายสุพล ฟองงาม รักษาการ รมช.มหาดไทย นายธีระชัย แสนแก้ว รักษาการ รมช.เกษตรฯ นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ได้จับกลุ่มพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเคร่งเครียด หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ ทั้งนี้นายสุทินให้สัมภาษณ์ว่า การไม่ยอมเข้าประชุมของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะเป็นการต่อรองตำแหน่งหรือไม่ เรื่องนี้สังคมมองออกว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชน 70 คน ที่กล่าวอ้างนั้นคัดค้านนายสมัครเพื่ออะไร และไม่แปลกถ้าคนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนท่าทีหันมายกมือสนับสนุนนายสมัครในภายหลัง เพราะการชูนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯยังถือว่าเร็วเกินไป
ฝ่ายต้าน “สมัคร” รวมพลที่ห้องโถง
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณห้องโถงอาคารรัฐสภา 1 บรรดา ส.ส.พรรคพลังประชาชนซีกที่ต่อต้านนายสมัคร ก็ทยอยเดินทางมาสมทบกัน อาทิ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส. นครพนม แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว ส.ส.สัดส่วน กลุ่มภาคเหนือ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา กลุ่มโคราช ทั้งนี้นายไพจิตกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่มาขอเจรจากับประธานสภาฯและผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชาชนขอให้เลื่อนการลงมติออกไปก่อน เพราะ ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนกว่า 70 คนจะไม่ขอร่วมลงมติในครั้งนี้ หากยังยืนยันเสนอชื่อนายสมัครอีก ส่วนนายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า วันนี้ต้องรีบมาสภาฯเพื่อล็อบบี้เพื่อน ส.ส.ไม่ให้เซ็นชื่อเข้าประชุม เท่าที่ทราบในส่วนของ ส.ส.พลังประชาชนน่าจะมากกว่า 70 คน ที่ไม่เข้าไปโหวต นอกจากนี้ได้มีการประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว
หลบไปตึกวุฒิฯดูกล้องวงจรปิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ ส.ส.ซีกที่ต่อต้านนายสมัครจับกลุ่มกันอยู่ที่ห้องโถง ปรากฏว่านายทรงศักดิ์ ทองศรี รักษาการ รมช.คมนาคม กลุ่มเพื่อนเนวิน พร้อมพวก ส.ส.อีก 2-3 คน ได้เดินตรงปรี่ไปที่ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พร้อมชี้หน้าตำหนิว่า ทำแบบนี้ไปเป็นฝ่ายค้าน ทำแบบนี้ไม่รับพิจารณา แล้วก็เดินจากไป จากนั้น พ.ต.ท.สมชายได้เชิญ ส.ส.ที่ต่อต้านนายสมัครขึ้นไปที่ห้อง 220 อาคารวุฒิสภา เพื่อติดตามดูบรรยากาศภายในห้องประชุมสภาฯที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์วงจรปิด พร้อมโทรศัพท์ติดต่อ ส.ส.คนอื่นที่ไม่เข้าร่วมประชุมเป็นระยะ เมื่อมีการเปิดประชุม ส.ส.เหล่านี้ได้เดินไปสังเกตการณ์อยู่ที่หน้าประตูเข้าห้องประชุม โดยไม่เข้าร่วมประชุม
“สมพงษ์” แย้มต้องถกพรรคร่วมอีก
ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาน ให้สัมภาษณ์ว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยกันมาตลอด จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งเปลี่ยนแปลงอะไร ยืนยันว่าเวลาที่พรรคจะเสนอชื่อนายกฯจะเสนอชื่อเพียงคนเดียว ไม่มีการหารือชื่อสำรองหรือเผื่อเอาไว้ อะไรจะเกิดก็ค่อยมาคุยกัน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ติดตามทางโทรศัพท์กับพรรคร่วมรัฐบาลรู้สึกว่ายังต้องคุยกันอีกหน่อย และได้นัดหมายกันว่าจะหารือกัน
“สมชาย” ย้ำไม่คิดยุบสภา
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้การโหวตเสนอชื่อนายกฯเป็นเรื่องของสภาฯ ตนมาร่วมประชุมในฐานะเป็น ส.ส.คนหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นก็เป็นเรื่องของสภาฯ ยืนยันไม่เคยคิดเรื่องการยุบสภาฯ เพราะเป็นแค่นายกฯรักษาการ เมื่อถามว่าสัตยาบันที่ 6 พรรคร่วมรัฐบาลจับมือจัดตั้งรัฐบาล จะยกเลิกไปเลยหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาเป็นการจับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาล กลไกต่างๆต้องเดินต่อไปคือมาที่สภาฯ ส่วนสภาฯจะเป็นอย่างไรต้องคอยดูกัน และเราไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายกิจการของพรรคอื่น
เมื่อถามว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. สนับสนุนแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น คิดว่าเป็นความหวังดีต่อบ้านเมืองที่ต้องการเห็นความสงบเรียบร้อย แต่วิธีการต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
“อภิสิทธิ์” นำทีม ส.ส.เข้าประชุม
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องทำงานชั้น 3 อาคารรัฐสภา 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือกับแกนนำพรรคเพื่อตัดสินใจว่าจะไปเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมสภาฯหรือไม่ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งไปยืนลุ้นสถานการณ์ อยู่บริเวณห้องโถง ท่ามกลางกระแสข่าว ส.ส.พรรคพลังประชาชนซีกที่ต่อต้านนายสมัครได้ติดต่อพรรคประชาธิปัตย์ขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมประชุมสภาฯ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หารือกันจนถึงเวลา 09.25 น. นายอภิสิทธิ์ได้เดินพาแกนนำ ส.ส.ของพรรคไปลงชื่อเข้าร่วมประชุม
ปชป.สบช่องเสนอ “มาร์ค” ชิงนายกฯ
จนกระทั่งเวลา 09.40 น. การประชุมสภาผู้แทน ราษฎรจึงเริ่มขึ้น หลังจากที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลงชื่อเข้าประชุม เมื่อรวมกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ลงชื่อไปก่อนหน้านี้ ทำให้ครบองค์ประชุมสามารถเปิดประชุมได้ โดยทันทีที่เปิดประชุม นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มองไปที่ฝั˜งที่นั่งของพรรคพลังประชาชน เห็นมีจำนวน ส.ส.โหรงเหรง และไม่มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในห้องประชุมเลย ขณะที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.นั่งกันแน่นเอี้ยด ทำให้นายชัยถึงกับเอ่ยปากว่า “ซีกนี้ไม่มีเลย” และได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขณะนี้มีผู้มาลงชื่อจำนวน 246 คน ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งและครบองค์ประชุมแล้ว จึงขอดำเนินการไปตามระเบียบวาระพิเศษ โดยแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และขอให้สมาชิกเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ปรากฏว่านายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทันที แต่นายชัยได้ขอให้ใช้วิธีเสียบบัตรเพื่อรับรองการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ผลปรากฏว่ามีผู้รับรองเพียงแค่ 144 คน ไม่ลงคะแนน 1 นายชัยจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่ามีผู้รับรองไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม
“ชัย” รีบปิดประชุม-นัดใหม่ 17 ก.ย.
จากนั้นนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เสนอว่าการประชุมวันนี้มีความสำคัญ คนที่จะเป็นนายกฯต้องมีเสียงรับรองเกินครึ่งหนึ่งคือ 236 เสียง พรรคพลังประชาชนยังมีความประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลอื่นมาเป็นนายกฯ ขณะนี้เห็นว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมไม่ครบองค์ประชุมแน่นอน จึงขอให้นับองค์ ประชุมอีกครั้งหนึ่ง นายชัยจึงแจ้งให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตน ผลปรากฏว่ามีผู้เสียบบัตรแสดงตนเพียง 161 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. นายชัยจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อมีผู้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯแต่องค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้น ขอเลื่อนการประชุมไปเป็นวันพุธที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงและขอให้นับองค์ประชุมอีกครั้งด้วยการขานชื่อ โดยให้เหตุผลว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในห้องประชุมนี้มีเกินกว่า 161 เสียงแน่นอน อย่างไรก็ตาม นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า เมื่อนับองค์ประชุมแล้วไม่ครบก็ไม่สามารถจะดำเนินการใดๆต่อไปได้อีก ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมเพียง 20 คน เริ่มทยอยเดินออกจากห้องประชุมทันที นายชัยจึงกดออดเรียก ส.ส.เข้ามาในห้องประชุมอีกหลายครั้ง จนเจ้าตัวเอ่ยปากว่ากดแล้วแต่ไม่มีใครมาเลย และขอปิดการประชุมในเวลา 09.55 น.
“สมชาย” ยืนคุมเกมข้างห้องประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตลอดการประชุมนายสมัคร สุนทรเวช และบรรดาแกนนำของพรรคพลังประชาชนไม่ได้เข้ามานั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน คอยยืนกำกับ ส.ส.อยู่ด้านข้างห้องประชุมตลอดเวลา ท่ามกลาง ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่มายืนออสังเกตการณ์อยู่รอบห้องประชุมโดยไม่ยอมเข้ามานั่งในห้องประชุม โดยภายหลังจากที่ประธานสภาฯสั่งปิดการประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้บรรดา ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ต่างเดินหัวเราะออกจากห้องประชุมด้วยความสะใจ ที่นายสมัครไม่ได้รับการลงมติเลือกเป็นนายกฯในครั้งนี้
“สมัคร” จ๋อยพยายามหลบนักข่าว
ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ภายหลังปิดประชุมสภาฯ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งพลาดหวังจากตำแหน่งนายกฯ พยายามที่จะหลบเลี่ยงกลุ่มผู้สื่อข่าว ทันทีที่นายสมัครทราบจากนายตำรวจติดตามว่าผู้สื่อข่าวจำนวนมากดักรอที่หน้าอาคารวุฒิสภา นายสมัครจึงเดินลงจากอาคารรัฐสภาเพื่อจะมาขึ้นรถที่ชั้น 1 ของอาคารรัฐสภา 1 แต่เมื่อรู้ว่ามีผู้สื่อข่าวและช่างภาพจำนวนมากแบ่งทีมมาดักรออยู่ในจุดดังกล่าว นายสมัครจึงหยุดนั่งอยู่ระหว่างบันไดทางเชื่อมระหว่างตึกรัฐสภาและตึกวุฒิสภา โดยเจ้าหน้าที่ได้นำเก้าอี้มาให้นั่ง เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที นายสมัครจึงลุกขึ้นเดินท่ามกลางอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย ขณะนั้นช่างภาพผู้สื่อข่าวได้มายืนอยู่ใกล้ตัวนายสมัครเป็นจำนวนมากแล้ว
ปิดปากเงียบไม่พูดไม่จา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสมัครเดินอยู่นั้น นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด กลุ่มเพื่อนเนวิน เดินประกบข้างมาตลอด โดยสีหน้าของนายสมัครเคร่งเครียดกว่าตอนเช้าที่เดินทางมาถึงรัฐสภา เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามซักถามถึงสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนประธานสภาฯต้องเลื่อนการประชุมเพื่อเลือกตัวนายกฯออกไปวันพุธหน้า นายสมัครไม่ยอมตอบคำถาม เมื่อถามอีกว่า จะเปลี่ยนใจ ถอดใจหรือทบทวนความคิดที่จะรับเป็นนายกฯหรือไม่ นายสมัครยังคงนิ่งไม่ตอบ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า วันพุธหน้าพรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกฯอีกหรือไม่ นายสมัครก็ไม่ตอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อนายนิสิตกระซิบบอกนายสมัครว่า “หัวหน้ายิ้มหน่อย” ทำให้นายสมัครต้องพยายามฝืนยิ้มออกมา แต่ก็ทำได้ไม่เกิน 2 วินาที จากนั้นนายสมัครได้นั่งรถตู้สีดำโตโยต้า อัลพาร์ด ทะเบียน ศร 3333 ออกจากรัฐสภา โดยขอไม่ให้ผู้สื่อข่าวติดตาม รวมไปถึงนายตำรวจติดตามด้วย
“ทรงศักดิ์” รับเหนือความคาดหมาย
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รักษาการ รมช.คมนาคม คนใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีไม่สบอารมณ์ว่า จะต้องกลับไปคุยกันในที่ประชุมพรรคพลังประชาชนเพื่อประเมินสถานการณ์และทำความเข้าใจกันหน่อยว่ามติพรรคคืออะไร แต่ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ทราบมาว่าเมื่อคืนวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวว่า ถ้าเลือกนายสมัครจะเกิดการนองเลือด พันธมิตรฯจะเคลื่อนขบวนมาปะทะกับกลุ่มอะไรไม่รู้ ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯได้ เราไม่ยอมให้อำนาจมืดมาทำอย่างนั้น เมื่อถามว่า จะมีการยุบสภาเพื่อเป็นการหาทางออกหรือไม่ นายทรงศักดิ์ตอบว่า จะต้องดูกันต่อไป ระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้ ทั้งนั้น ทั้งยุบสภาหรือลาออก เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลุ่มเพื่อนเนวินเสียหน้าหรือไม่ นายทรงศักดิ์ตอบว่า ไม่ใช่เสียหน้า ไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวนายสมัคร สุนทรเวช หรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้ ขอหารือในที่ประชุมก่อน แต่โดยส่วนตัวยังยืนยันในหลักการในฐานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควรเสนอชื่อคนเป็นหัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกฯ
“ขุนค้อน” นำทีมต่อต้าน “สมัคร”
ที่อาคารรัฐสภา 3 เวลา 11.00 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รักษาการ รมว.วัฒนธรรม หัวหน้ากลุ่มขุนค้อน พร้อมด้วย ส.ส.พรรคพลังประชาชนซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคที่ต่อต้านนายสมัคร จำนวน 12 คน อาทิ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าว โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และ กทม. บางส่วนไม่เข้าร่วมการประชุมสภาฯครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้สมาชิกมีเวลาไตร่ตรองพิจารณาคนที่เหมาะสมขึ้นมาบริหารประเทศ นายสมัครเป็นปูชนียบุคคลที่ช่วยเหลือพรรคพลังประชาชนมาโดยตลอด เป็นคนทำงานและเป็นคนดี แต่ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองในขณะนี้คือ เรื่องความขัดแย้ง ผู้นำคนใหม่จึงน่าจะเป็นคนประนีประนอม และประสานประโยชน์ได้ทุกฝ่าย ซึ่งนายสมัครไม่น่าจะเหมาะสม สำหรับกลุ่มอีสานพัฒนา นายสมัครถือว่าจบแล้ว หากการประชุมสภาฯในวันที่ 17 ก.ย. ยังเสนอนายสมัคร ทางกลุ่มจะไม่เข้าร่วมประชุมอีก ขณะนี้อยู่ ระหว่างพิจารณารายชื่อบุคคลที่เหมาะสม ไม่น่าจะพ้น “3 ส.” ตามที่เป็นข่าว ขอขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ ความร่วมมือในการเลื่อนการประชุมออกไปก่อน เชื่อว่าการลงมติเลือกนายกฯในการประชุมสภาฯครั้งหน้าจะมีความเป็นเอกภาพ
ปัดไม่ได้สั่งสอนกลุ่มเพื่อนเนวิน
“ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เป็นการสั่งสอนกลุ่มเพื่อนเนวินที่ดึงดันจะเสนอชื่อนายสมัครให้ได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่เราเห็นว่าที่ผ่านมามีเวลาคุยกันน้อยเกินไป ทำให้ ความเข้าใจอาจจะยังไม่ตรงกัน ส่วนที่มีการอ้างสายตรงจากลอนดอนสั่งให้สนับสนุนนายสมัคร ก็อ้างกันไป แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน ควรจะปล่อยให้ท่านได้อยู่สุขสบายของท่าน” นายสมศักดิ์กล่าว
ไม่สนคำขู่ยุบสภา
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมามีสมาชิกกลุ่มบางคนต้องเจรจากับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจนถึงตีหนึ่ง กว่าจะมีมติร่วมกันว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้เลื่อนการเลือกนายกฯออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าเวลาเพียง 3 วันนั้นไม่เพียงพอต่อการพูดคุยกัน อีกทั้งมติของพรรคที่ให้เสนอนายสมัครก็กระทำรวบรัดเกินไป ตอนเช้าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือมาว่าจะประชุมพรรคเวลา 09.30 น. แต่ต่อมาก็แจ้งยกเลิก แล้วเลื่อนไปประชุมตอน 20.00 น.อีก ทำอย่างกับจัดแถวเด็กนักเรียนไม่มีเลขาธิการพรรคไหนทำกันอย่างนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวินขู่จะยุบสภา หากกลุ่มอีสานพัฒนายังไม่สนับสนุนนายสมัคร นายพีรพันธุ์กล่าวว่า เขาทำได้เหรอ เพราะอำนาจในการยุบสภาขณะนี้อยู่ที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าว นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ได้เข้าไปหารือกับแกนนำกลุ่มดังกล่าวอยู่พักใหญ่ก่อนเดินทางกลับ
กลุ่มภาคเหนือชี้เป็นบทเรียนที่ดี
พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กลุ่มภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้สมาชิกพรรคต้องหันหน้ามาคุยและเข้าใจกันมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สมาชิกทุกคนจะมีความหมาย การ บริหารงานหลังจากนี้จะเป็นรูปแบบใหม่ มีการแสดงความเห็นควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา ทั้งนี้ นายสมัครได้ฝากขอบคุณ พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ หลังจากภายในพรรคพลังประชาชนความคิดเห็นยังไม่ตกผลึก สำหรับข้อห่วงใยของ ส.ส.ภาคเหนือรวมทั้งกลุ่มอีสานพัฒนานั้น เป็นเพราะเห็นว่าการเสนอชื่อนายสมัครเหมือนเป็นการนำท่านขึ้นไปฆ่า อีกทั้งเป็นห่วงคดีหมิ่นประมาทในวันที่ 25 ก.ย. ซึ่งจากนี้พรรคคงจะนัดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าไม่เกิน 2 วัน จะตกผลึก เบื้องต้นต้องให้เกียรตินายสมัครในฐานะหัวหน้าพรรคก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ยอมรับถ้าไปไม่ไหวก็ยุบสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสมัครยืนยันที่จะสู้ต่อ พรรคจะว่าอย่างไร พ.ต.ท.กานต์ตอบว่า ต้องดูก่อนว่านายสมัครจะทำอะไรให้พรรคบ้าง เมื่อถามว่ากลุ่ม ส.ส.เหนือต้องการให้ใครเป็นนายกฯ พ.ต.ท.กานต์ตอบว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ เมื่อถามว่าอาจจะมีการยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือไม่ พ.ต.ท.กานต์ตอบว่า ในเชิงวิชาการแล้วหากทุกอย่างเดินไปไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยุบสภา หากเดินได้ก็ไม่ต้องยุบ
ก๊วนเนวินดึงดันหนุน “สมัคร” ต่อ
ขณะเดียวกัน นายเนวิน ชิดชอบ นัด ส.ส.ในสังกัด ไปประชุมกันที่ชั้น 2 ที่ทำการพรรคพลังประชาชน เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากที่ที่ประชุมสภาฯไม่สามารถเลือกนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯได้ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ภายหลังการประชุม ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินประมาณ 30 คน ลงมาแถลงข่าวที่ห้องสื่อมวลชน โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กล่าวว่า ในนามกลุ่ม ส.ส.ภาคอีสานมี 83 คน มีมติประกาศเจตนารมณ์ว่า 1. ส.ส.ทุกคนขอยืนยันที่จะสนับสนุนให้ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายฯต่อ 2. หากมีการเปลี่ยนแปลง ใดๆทางการเมือง ส.ส.ทุกคนขอให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายสมัคร เราเคารพการตัดสินใจของท่าน 3. ส.ส.ทุกคนจะร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นปึกแผ่นและแน่นแฟ้นด้วยกันตลอดไป ทั้งนี้ ส.ส.ในกลุ่มได้ร่วมลงชื่อทำหนังสือถึงนายสมัครเพื่อให้พิจารณาต่อไป ส่วนนายวิเชียร อุดมศักดิ์ ส.ส.อำนาจเจริญ กล่าวเสริมว่า มติดังกล่าวของกลุ่มจะนำไปมอบให้หัวหน้าพรรค ส่วนจะตัดสินใจหรือมอบหมายให้ใครเป็นนายกฯ ถือเป็นอำนาจของท่าน โดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าการประชุมสภาฯวันที่ 17 ก.ย. นี้ ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ คงจะต้องมีการยุบสภาแน่นอน
ชท.อ้างต้องฟังกระแสประชาชน
ส่วนท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลภายหลังจากที่ประชุมสภาฯ ไม่สามารถเลือกนายกฯคนใหม่ได้นั้น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จากวันนี้จนถึงวันที่ 17 ก.ย. ยังมีเวลาช่วยกันฉุกคิดว่าฝ่ายการเมืองจะนำพาชาติไปทางไหน ต้องทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและไตร่ตรองว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่ออนาคตของบ้านเมือง หาแนวทางนำพาประเทศกลับไปสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมีเวลาหายใจ ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจวันนี้คือการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่ท้าทายมโนธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองว่ามีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน พรรคการเมืองต้องผูกพันกับประชาชน ถ้าประชาชนมีความรู้สึกห่วงใยอย่างไรต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อบ้านเมือง ก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคปฏิเสธไม่ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคชาติไทยไม่เห็นด้วยกับพรรค พลังประชาชน และต้องการให้เปลี่ยนตัวนายกฯใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า จะบอกว่าไม่เห็นด้วยคงไม่ได้ แต่ต้องบอกว่ารับฟังเสียงของประชาชนว่ามีความรู้สึกอย่างไร วันนี้เราถึงคิดว่าให้ทุกฝ่ายตั้งสติ และคิดว่าจะช่วยกันผ่าทางตันของประเทศอย่างไร และคนที่จะสามารถผ่าทางตันได้ดีที่สุดคือนายกฯที่มีภาพพจน์ทุกฝ่ายยอมรับ ยุติปัญหาความขัดแย้งของสังคมที่เกิดขึ้นได้
“บรรหาร” ยืนยันไม่เปลี่ยนขั้ว
ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่อิมแพค เมืองทองธานี มีการประชุมใหญ่พรรคชาติไทยประจำปี 2551 ครั้งที่ 2 เพื่อเลือกตั้งคณะผู้บริหารพรรคชุดใหม่ โดยลดจำนวนกรรมการบริหารจากเดิม 34 คนเหลือเพียง 12 ตำแหน่ง และผู้ได้รับเลือกส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ ส.ส. เพื่อลดความเสี่ยงจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า ขณะนี้กระแสสังคมไม่เห็นด้วยที่นายสมัคร สุนทรเวช จะเข้ามาเป็นนายกฯอีก แต่พรรคพลังประชาชนได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้มาร่วมรัฐบาลต่อไป ซึ่งพรรคชาติไทยคงไม่มีการสลับขั้ว เพราะสลับไม่ได้เนื่องจากเสียงน้อยเกินไป
ขอ พปช.ส่งคนมนุษยสัมพันธ์ดี
“คนที่จะเป็นผู้นำคนต่อไปต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เช่นนั้นไปไม่รอด 2 วันที่ผ่านมาพรรคชาติไทยได้รับแรงกดดันต่างๆของพลังประชาชนก็มีหลายกลุ่มที่รับไม่ได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ และต้องเลื่อนออกไปก่อน ส่วนอีกพรรคไม่ต้องพูดถึงคงคิดว่าหวานคอแร้งแล้ว ได้เป็นนายกฯ แน่แล้ว จึงมีการแก้เกมกัน การเมืองก็เป็นแบบนี้ ต้องมีการชิงไหวชิงพริบ” นายบรรหารกล่าว
ชี้อีก 3-4 วันปัญหาเคลียร์ลงตัว
นายบรรหารให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เวลาที่เหลือน่าจะได้ความเห็นที่ตกผลึกกับบุคคลที่จะมีการเสนอชื่อเป็นนายกฯ และคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าพรรคแกนนำยังไม่เป็นเอกภาพ พรรคชาติไทยจะมีแนวทางอย่างไร นายบรรหารตอบว่า ต้องเป็นเอกภาพ เพราะช่วงเช้าได้ย้ำไปแล้วว่าเพราะอะไรที่ไม่ประชุมที่รัฐสภา แต่มาประชุมที่พรรคแทน และรู้ว่าพรรคพลังประชาชนยังแตกเป็นขั้วนั้นขั้วนี้ คิดว่าการประชุมสภาฯคงไม่ครบองค์ประชุมแน่นอน จึงไม่ได้ไปประชุมสภาฯ อยากฝากข้อคิดว่าคนที่จะไปทำให้พรรคพลังประชาชนนิ่งควรจะเป็นใคร และอย่าให้มีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ภายใน 3-4 วันต้องจบลงได้
เมื่อถามว่าหากพรรคพลังประชาชนเสนอนายสมัครเข้ามาอีกจะทำอย่างไร นายบรรหารตอบว่า ไม่ขอพูด และยังไม่ตอบเรื่องนี้ ต้องรอปรึกษาหารือกันก่อน เพื่อให้เหตุการณ์วิกฤติคลี่คลายลงได้ เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าพรรคชาติไทยจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเปลี่ยนขั้วใหม่ นายบรรหารตอบว่า ไม่จริง จับไม่ได้แล้ว ไม่มีทาง เห็นเหตุการณ์เมื่อเช้าแล้วคงจับมือด้วยไม่ได้ บอกได้แค่นี้ พูดแบบตรงไปตรงมา ยืนยันว่าพรรคชาติไทยมีสัจจะ จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนแน่นอน
ฟันธงไม่ยุบสภา-หนุน 3 ส.
เมื่อถามว่าที่ระบุในที่ประชุมพรรคว่า “หวาน คอแร้ง” หมายความว่าอย่างไร นายบรรหารตอบว่า ตนไปกินน้ำหวานแล้วแสบคอ ไม่ได้พูดกระทบใคร ส่วนเรื่องกระแสข่าวที่จะมีการยุบสภานั้น ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน และส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิก พ.ร.ก.การบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะภาคเอกชนและการท่องเที่ยวก็อยากให้ยกเลิก เมื่อถามว่าพรรคร่วมยังยืนยันจุดยืนที่หากพรรคพลังประชาชนเสนอใครมาก็ถือว่าเหมาะสมทั้งหมดหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ไม่ตอบ ตอบไม่ได้ตอนนี้ แต่คนที่จะมาเป็นนายกฯต้องมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมาก โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า 3 ส.เหมาะสมทุกคน เมื่อถามย้ำว่า ส.สมัครเหมาะสมหรือไม่ นายบรรหารหัวเราะก่อนจะกล่าวเพียงสั้นๆว่า ถามอะไรอย่างนั้น
“อนงค์วรรณ” ย้ำคำเดิมยึดหลักการ
ด้านนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รักษาการ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเพราะการไม่ยอมรับกฎหมาย ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดความวุ่นวาย ต้องยอมรับว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ออกมาถูกใจทุกฝ่าย ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องยอมรับกติกาที่มีอยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการเลื่อนการประชุมสภาฯเพื่อโหวตเลือกนายกฯไปเป็นสัปดาห์หน้า พรรคมัชฌิมาธิปไตยจะยังคงสนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯอีกหรือไม่ นางอนงค์วรรณตอบว่า ยอมรับหลักการที่ให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หากเสนอบุคคลใดขึ้นมาแล้ว ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรยอมรับ เรายึดหลักการ ไม่ใช่ยึดติดตัวบุคคล และขอร้องให้ทุกฝ่ายเลิกโทษว่าใครผิด หันมาช่วยกันเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้
พผ.รอให้พปช.เคลียร์ลงตัวก่อน
ภายหลังการประชุม ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา กลุ่มโคราช พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงการที่ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯว่า ถือเป็นเอกภาพภายในพรรค เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติว่าพรรคพลังประชาชนจะส่งชื่อใครเป็นนายกฯ ก็คงต้องมีการหารือกันต่อไป ขณะที่นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร กลุ่มบ้านริมน้ำ พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า กลุ่มของตนมาร่วมเซ็นชื่อเข้าประชุม เพื่อต้องการให้มีรัฐบาลโดยเร็ว ต้องการจะรักษาระบอบประชาธิปไตย และยอมรับคนที่พรรคพลังประชาชนเสนอมาทุกคนเพราะถือเป็นมารยาท แต่เมื่อภายในพรรคพลังประชาชนยังมีปัญหาขัดแย้งกันเอง ก็ต้องให้เขาเคลียร์กันให้ได้ก่อน ตั้งแต่เล่นการเมืองมาไม่เคยเห็นสถานการณ์ แบบนี้มาก่อน รู้สึกปวดหัวไปหมด
“อภิสิทธิ์” ระบุไม่คิดเล่นเกมชิงเก้าอี้
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังประชุมสภาฯล่มว่า ได้ทักท้วงตั้งแต่แรกแล้วว่าเร็วเกินไป แต่ในเมื่อไม่เลื่อน ก็ต้องประชุมตามที่กำหนด เมื่อช่วงเช้าก็มีการประสานมาว่า สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลไม่สบายใจมติพรรคพลังประชาชน และมาถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมประชุมหรือไม่ ทางพรรคจึงมาพูดคุยกันและเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับพรรคว่าจะเข้าประชุมหรือไม่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงคะแนนให้นายสมัครอยู่แล้ว หากจะเป็นนายกฯได้ต้องมีเสียงสนับสนุน 236 เสียง อีกทั้งหากพรรคไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯก็จะหาว่าพรรคเล่นเกมการเมืองทำให้สภาล่ม จึงอยากให้ ตั้งหลักให้ถูก ต้องไปถามคนที่ไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ต้องถามคนเข้าประชุม เพราะทำหน้าที่ตามปกติและเสนอชื่อไปตามกระบวนการ ไม่ได้พิสดารหรือแผนการใดๆ
ตอกย้ำแนวคิดรัฐบาลพิเศษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์พยายามเดินเกมในรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ที่ระบุว่า หากไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นนายกฯถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธาน สภาฯ นำผู้ที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เป็นการคิดกันไปเอง เพราะยังไม่ ได้ลงคะแนน ถ้าทำหน้าที่ตรงไปตรงมาก็หมดเรื่อง พอไม่ทำแล้วมาตั้งคำถามกับคนอื่น มันแปลก ส่วนถ้าพรรคร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจว่าอยากมาพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น อยู่ที่ว่าใครมาพูดคุยกับเรา เราก็คุยและพยายามหาทางช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ละคนมีความคิดหรือเป้าหมายแตกต่างกันไป แต่คิดว่าทุกพรรคควรจะคุยกัน ตนยินดีที่จะพูดคุยตลอดเวลา ไม่ได้มองว่าได้เปรียบเสียเปรียบ แล้วไม่คิดถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ เบื่อจะตายอยู่แล้ว เบื่อจริงๆ มาชิงไหวชิงพริบกัน ตนและพรรคประชาธิปัตย์เสนอทางออก เมื่อไม่มีใครตอบรับก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องรัฐบาลพิเศษก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะลองมาดูกัน
“เทือก” ทำใจพรรครัฐบาลตกลงกันได้
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่มีการตกลงกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะไม่เข้าประชุมเพื่อปิดทางการเลือกนายกฯว่า คงเป็นการคุยกันหลายฝ่าย ยืนยันว่าตนและนายอภิสิทธิ์ไม่เคยตกลงกับใคร ไม่ได้พูดกับนายสมชายว่าไม่ให้เข้าประชุม แต่ก่อนหน้าจะเริ่มประชุมมีคนต่อโทรศัพท์ให้คุยกับนายสมชาย จึงบอกไปว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้าประชุมคงไม่มีผลอะไร เพราะมีแค่ 164 คน เมื่อถามว่า ยืนยัน ได้หรือไม่ว่าไม่ใช่การฉกฉวยโอกาส นายสุเทพกล่าวว่า มันได้ประโยชน์อะไร โหวตไปก็ไม่ได้เป็นนายกฯ เข้าใจกฎหมายดี เมื่อถามว่า พรรคพลังประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ไว้เพราะหวังจะเป็นรัฐบาล นายสุเทพกล่าวว่า แล้วทำไมรัฐบาลไม่เข้าประชุม ต้องตำหนิตัวเอง ส่วนที่เลื่อนนัดประชุมเป็นวันที่ 17 ก.ย.นี้ แปลว่า คงเพื่อเลือกนายกฯกันต่อ ฝ่ายรัฐบาลต้องไปตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องจะชวนฝ่ายค้านไปคุยด้วยก็บอกมา จะได้คุยด้วย แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงตกลงกันได้
“ชวน” กรีดกระเหี้ยนกระหือรือ
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุการณ์สภาฯล่ม ไม่สามารถประชุมเลือกนายกฯได้ว่า เป็นเพราะหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีของนายสมัคร ประธานสภาฯก็นัดเรียกประชุมทันที มีเวลาน้อยมาก เคยเตือนตั้งแต่ต้นแล้วว่าควรจะให้เวลากับแต่ละฝ่ายหาตัวนายกฯที่เหมาะสม ไตร่ตรองให้รอบคอบ แต่ด้วยความคิดที่จะเอาเปรียบ เราพูดกันเล่นๆว่ากระเหี้ยนกระหือรือลุกลี้ลุกลนเกินจำเป็น กลัวคนอื่นจะฉวยโอกาส ทั้งที่มันเป็นไปไม่ได้หากรัฐบาลยังจับกลุ่มกันอยู่ สุดท้ายก็เลือกไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และหากพาลโทษคนอื่นจะยิ่งมีปัญหา ส่วนกรณีการเสนอชื่อนายสมัครแล้วจะลดปัญหาความขัดแย้งหรือไม่นั้น คงไม่ก้าวล่วง แต่คิดว่ามีปัญหา เพราะการเสนอชื่อตัวบุคคลต้องผ่านการลงพระปรมาภิไธย จึงต้องคิดเผื่อว่าหากต่อมามีปัญหาใครจะรับผิดชอบ
พันธมิตรฯเย้ยแบ่งเค้กไม่ลงตัว
สำหรับท่าทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลังทราบผลว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ได้นั้น เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ร่วมแถลงข่าวที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งของนักเลือกตั้งในพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็ทะเลาะกัน แต่พอแจกกันได้ทั่วทุกอย่างก็จบ เป็นลักษณะซ่องโจรธรรมดา เรายังยืนยันในจุดเดิมว่าใครก็ตามที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนหรือในพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นนายกฯก็ยังชุมนุมต่อไป เพราะปัญหายังเหมือนเดิม คนพวกนี้ไม่เคยคิดแก้ปัญหาให้ ประเทศชาติ วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังประกาศชัดว่าจะฟังเสียงพรรคพลังประชาชน ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าพรรคเสียงข้างมากจะต้องเป็นรัฐบาล หรือหัวหน้าพรรคต้องเป็นนายกฯเท่านั้น บอกแต่ว่า ส.ส.เลือกใครคนนั้นก็เป็นนายกฯ
เปรียบเจ็บหมัดหมาจ้องสูบเลือด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้โอกาสกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ บริหารประเทศไปก่อนหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า คนพวกนี้คือสมุนรับใช้อดีตนายกฯ โดยเฉพาะนายสมชายที่เป็นน้องเขย
ล่าสุดนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ก็ประกาศว่าต้องทำตามคำสั่งคนจากลอนดอน ลักษณะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการทุนสามานย์ที่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจปัญหาประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าออกจากการเป็นรัฐบาลปัญหาก็จะคลี่คลาย แต่ก็ยังดื้อดึงเดินหน้าสร้างวิกฤติให้ประเทศชาติ โดยเฉพาะการไม่ยอมยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อถามว่า บางส่วนในพรรคพลังประชาชนยังพยายามผลักดันนายสมัครอยู่ นายสมศักดิ์ตอบว่า เป็นไปตามทฤษฎี “หมัดหมา” ที่หมาก่อนตายจะหลั่งเลือดอย่างแรง หัวหน้าหมัดหมาทั้งหลายจะเข้ามาเก็งกำไร เข้ามาดูดเลือดที่ใกล้หัวใจที่สุด พอหมาตายก็กระโดดไปเกาะหมาตัวอื่น แต่เที่ยวนี้คงลำบาก เพราะวันที่ 17 ก.ย.นี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดา จะเป็นช่วง 5 วันอันตราย ให้จับตาดูว่าเมื่อหมาตายแล้วหมัดทั้งหลายคงวิ่งกันหูตูบ เพราะไม่มีเงินเหลือให้สูบแล้ว
ไม่ขวาง “อภิสิทธิ์” นั่งนายกฯ
เมื่อถามว่า ถ้าเป็นสูตรพรรคร่วมรัฐบาลไปหนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ กลุ่มพันธมิตรฯพอรับได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป และขึ้นอยู่กับมติเสียงส่วนใหญ่ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรายังไม่พูดเมื่อยังไม่ถึงเหตุการณ์นั้น ส่วนรัฐบาลแห่งชาติจะเป็นทางออกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีรูปแบบอย่างไร เพราะสามารถตีความได้มากมาย ต้องรอดูว่านำเสนออย่างไรแล้วแกนนำจึงจะนำเสนออีกที ที่สำคัญต้องดูว่าสามารถแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้หรือไม่ ถ้ามีรัฐบาลแห่งชาติต้องมีเงื่อนไขว่า 1.ไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2.ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ถ้าพบความผิดต้องยึดทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ 3.การเมืองในอนาคตต้องไม่โกง ถ้าคำตอบเหล่านี้ชัดเจนมีหลักประกัน ก็จะมาพิจารณา แต่ถ้าไม่มีคำตอบก็ต้องเดินหน้าชุมนุมกันต่อไป
ย้ำสเปกนายกฯต้องไม่ชั่ว
เมื่อถามย้ำว่า ในสภาฯขณะนี้มี ส.ส.ที่มีสเปกตรงกับใจพันธมิตรฯพอจะเป็นนายกฯหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า เราไม่ได้กำหนดสเปก แต่กำหนดหลักการว่าต้องเป็นคนดี อย่างน้อยคือไม่เคยทำความชั่วจนเป็นที่แจ้งประจักษ์ ไม่เคยมีคดี ไม่เคยมีความชั่วช้า ไม่เคยขายแผ่นดิน เท่าที่มีมีแต่คดีติดตัวมอมแมมไปหมด ประเทศไทยมาถึงจุดที่ว่าหาคนเลวน้อยกว่านี้ไม่ได้แล้ว หรือ ทางออกถ้าจะมีต้องเป็นทางออกของประเทศ ไม่ใช่ ทางออกของนักเลือกตั้ง การต่อสู้ของเราต้องคุ้มทุนที่ทำไปแล้ว เมื่อผ่าตัดไปแล้วโรคต้องหาย สุขภาพต้องดี ประเทศต้องได้ประโยชน์ เราจะชุมนุมกันต่อไป แกนนำประชุมกันทุกวัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ต้องวิเคราะห์และฟังจากทุกภาคส่วน
คุยฟุ้งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคุณภาพ
เมื่อถามถึงการนำคนนอกมาเป็นนายกฯในกรณีที่ในสภาไม่มีคนดีตามที่พันธมิตรฯพอใจ นายสมศักดิ์ตอบว่า ก็ต้องดู ขณะนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯมาจาก ส.ส. ต้องดูว่าจะทำได้อย่างไร เมื่อถามต่อว่า สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า ยังไม่มีรายละเอียด แต่มีนักวิชาการเคยเสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เราก็ฟัง ตอนนี้พันธมิตรฯพยายามหยิบข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆมาพิจารณาหาข้อสรุปอีกครั้ง เมื่อถามว่า หากจะนำคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน นายสมศักดิ์ตอบว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายอยู่ ถ้าแก้ตอนนี้จะเท่ากับปล่อยโจรผู้ร้ายที่ปล้นชาติบ้านเมือง เมื่อถามว่า ประเมินกำลังของกลุ่มพันธมิตรฯขณะนี้มีมาชุมนุมมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร นายสมศักดิ์ตอบว่า ยืนยันว่ากำลังพลของพันธมิตรฯมีแต่จะมากขึ้น ล้วนเป็นคนมีคุณภาพระดับหัวกะทิ ไม่ใช่ถูกจ้างมา แต่ผู้ชุมนุมฉลาด ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรก็พักผ่อน แต่พอเรียกรวมพลก็มากันเต็ม จะไม่มีการเป่านกหวีดอีกแล้ว การชุมนุมหลังจากนี้จะเป็นลักษณะเมื่อมีเหตุการณ์ก็จะเรียกคนมาลงประชามติ โดยไม่ต้องทำอะไร ให้สังคม ได้เห็นว่าคนไม่เอาคุณแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาธิปไตยทางตรง
ทหารเกาะติดสถานการณ์
ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปโดยสงบ ไม่รุนแรง เรียบร้อยดี ส่วนใครจะมาเป็นนายกฯนั้น ตนเป็นทหาร ไม่ขอพูดการเมือง แต่เชื่อว่าประเทศต้องมีผู้นำ ทหารเป็นห่วงที่จะเกิดสถานการณ์ ม็อบชนม็อบ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับทหารคือ เราไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ขออย่าทำอะไรที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ทหารเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุการณ์ จะย้อนกลับไปสู่ 19 ก.ย. 2549 หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า “19 กันยายนเขาจัดการอย่างไรนะ ผมลืมไปหมดแล้ว” เมื่อถามว่านายสมัคร สุนทรเวช เหมาะสมจะกลับเข้ามารับตำแหน่งนายกฯอีกหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ตอบไม่ได้ เมื่อถามว่า ผบ.เหล่าทัพมีความเป็นห่วงสถานการณ์รุมเร้ามากขณะนี้หรือไม่ ปรากฏว่า พล.อ. บุญสร้างพยักหน้าแทนการตอบคำถาม
“อานันท์” แนะทุกฝ่ายมีสติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันหลังได้มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ต่อสถานการณ์การเมืองที่เขม็งเกลียว โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ว่า ขอให้ทุกคนมีสติ มีความกล้า มองถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเห็นที่แตกแยกของพรรคการเมือง เรื่องการเสนอชื่อนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ ที่อาจทำให้ไม่สามารถลดความรุนแรงได้นั้น ถือเป็นการมองหาจุดยืนที่ร่วมกัน
ในทางผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ขณะเดียวกันกลุ่มพรรคการเมืองเริ่มมีการแบ่งเป็น 2 ขั้วค่อนข้างชัดเจน แต่กลับเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ส่วนความแตกแยกในสังคมทั้งด้านลึก และกว้าง ต้องใช้เวลาและตั้งสติให้มาก ลดอารมณ์ความแข็งกร้าวลง เมื่อถามถึงแนวทางการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหา นายอานันท์ กล่าวว่า คนเข้าใจคำนี้ไม่พ้องต้องกัน ถ้าหมายถึงมีทุกพรรคเข้ามาร่วมกัน แต่สถานการณ์ตรงนี้จะทำได้หรือไม่พรรคการเมืองต้องตัดสินใจร่วมกัน
วอนร่วมกันสร้างการเมืองมิติใหม่
เมื่อถามว่า หากพรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การเมืองไทยจะเดินไปทิศทางใด นาย อานันท์กล่าวว่า ขั้วของพรรคพลังประชาชนตอนนี้มีจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกันทั้งพรรค เราไม่ทราบวิธีคิดของคนในพรรคการเมือง ที่สำคัญขอให้ทุกฝ่ายมองเห็นถึงปัญหาของประเทศที่เข้าขั้นรุนแรงวิกฤติมาก คนส่วนใหญ่มองว่า การเมืองเก่ารูปแบบเดิมเดินมาถึงทางตันแล้ว ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงการเมืองมิติใหม่ที่มีหลายฝ่ายแสดงทรรศนะการสร้างแนวทางการเมืองใหม่ จะต้องทำให้ ประชาชนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม ไม่ใช่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น
“ประเวศ” อัดเละคนที่หนุน “สมัคร”
นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการชื่อดัง กล่าวว่า ถ้านายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีก อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงอีก เพราะมีบุคลิกก้าวร้าว รุนแรง หากใครสนับสนุน ก็เท่ากับเจตนาให้เกิดความรุนแรงในประเทศ จึงต้องไปดูว่าใครเป็นคนบงการ ใครอยากให้บ้านเมืองสงบก็ไม่ควรสนับสนุน และหากพรรคพลังประชาชนเสนอคนอื่น ก็ต้องดูที่เงื่อนไขว่าเป็นอย่างไร และต้องมาเพื่อป้องกันความรุนแรง หากเข้ามาเพื่อประโยชน์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จะวิกฤติต่อไป รัฐสภาควรต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ละคนต้องเป็นอิสระ ใช้วิจารณญาณของตัวเอง ไม่อยู่ภายใต้ การบงการของใคร คนไทยเข้าใจว่าเหตุการณ์ขณะนี้เป็นวิถีหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ความจริงแล้วเป็นเผด็จการ จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ทางจะหลุดจากวิกฤติทุกกลุ่มต้องร่วมสร้างจินตนาการใหม่ เลิกความคิดเดิมที่คับแคบ หากทำได้ ภายใน 5 ปี จะปลอดจากความขัดแย้งและความยากจน ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาตินั้น เคยเสนอแล้วว่า หากไปไม่ไหวก็ต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาแก้ปัญหาโดยไม่ต้องขึ้นกับอำนาจใดๆ
ชี้ยุบสภาเป็นทางออกที่ดี
นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การยุบสภาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากการเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็น นายกรัฐมนตรีจนเป็นผลสำเร็จ ประชาชนก็จะแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายหนักขึ้น มีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ บ้านเมืองจะเลวร้ายเข้าไปอีก
อาจารย์เกษตรฯออกแถลงการณ์
ขณะเดียวกันคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการที่นายสมัคร สุนทรเวช จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องจากแนวปฏิบัติของนายสมัครในระยะที่ผ่านมาได้ ที่สำคัญควรเคารพผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรเป็นสถาบันทางการเมืองสูงสุดที่ควรได้รับการยอมรับ และถือปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องตามคำตัดสิน นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้ ส.ส.ใช้ดุลพินิจในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติเป็นสำคัญมากกว่าประโยชน์ของพรรคการเมือง โดยการพิจารณาสนับสนุนผู้นำรัฐบาลซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ปัจจุบันในบ้านเมืองได้ การอ้างสิทธิในการเป็นผู้แทนนั้น ไม่เหมาะสมชอบธรรม หากปราศจากความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรฯก็ควรปรับเปลี่ยนประเด็นการเรียกร้องที่สามารถหาทางออกในการแก้สถานการณ์ของบ้านเมืองได้ มากกว่าการยืนหยัดในแนวทางที่ไม่เปิดโอกาสในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ถวายฎีกาคัดค้าน “สมัคร”
เมื่อเวลา 13.00 น. นายแทนคุณ หรืออี้ จิตต์อิสระ ดาราและพิธีกรชื่อดัง พร้อมเพื่อนสมาชิกกลุ่มสื่อธรรมะเพื่อเยาวชนจำนวน 10 คน เดินทางมาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สวดมนต์ภาวนาเรียกร้องให้รัฐบาล นักการเมืองและกลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการใช้ความรุนแรงและ สร้างวิกฤติให้กับประเทศชาติ นายแทนคุณกล่าวว่า ที่เดินทางมาเพราะเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง ไม่มีใครยอมใคร จึงอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณธรรม และอยากให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข แต่ไม่มีใครนึกถึงท่านเลย เช่นเดียวกับเครือข่ายภาคประชาสังคมประมาณ 100 คน นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย เดินทางไปที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สวดมนต์และนั่งสมาธิ จากนั้นส่งตัวแทน 5 คน นำหนังสือยื่นถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านเจ้าหน้าที่นิติกร สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง คัดค้านการที่นายสมัคร สุนทรเวช จะกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
แกนนำ พปช.หาทางอุดช่องโหว่
สำหรับการแก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชาชน หลังจากที่ ส.ส.สองฝ่ายประลองกำลังกันจนทำให้ไม่สามารถ เลือกนายกฯคนใหม่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเหตุการณ์องค์ประชุมสภาฯไม่ครบและต้องปิดการประชุมลงนั้น บรรดาแกนนำพรรคพลังประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านนายสมัคร นำโดยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำกลุ่มวังบัวบาน นายไพจิต ศรีวรขาน แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา รวมทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ร่วมประชุมกันที่พรรค โดยเห็นว่าหลังจากนี้แกนนำพรรคต้องชี้แจงกับสมาชิกพรรคไม่ให้เกิดช่องว่างทางการเมืองเหมือนในวันนี้ และเห็นว่าท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลแสดงออกในวันนี้ ส่งสัญญาณในทางที่เป็นมิตร พร้อมร่วมทำงานด้วยกันต่อไป แค่ไม่เห็นด้วยเฉพาะตัวบุคคลที่เสนอให้เป็นนายกฯเท่านั้น จึงขอให้มีการคัดสรรคนใหม่แทน ส่วนสาเหตุที่นายสมัครตอบรับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯนั้น มองว่ากลุ่มที่ไปเชิญนายสมัครบิดเบือนข้อมูล อ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน นายสมัครจึงเชื่อและตอบรับ แต่สุดท้ายเหตุการณ์ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด
ส่ง 3 ส. เจรจา “สมัคร”
หลังจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยได้นำผลการประชุมแกนนำและหัวหน้ากลุ่ม ส.ส.มาพิจารณา ในที่สุดมีมติมอบนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ นพ.สุรพงษ์ ไปพูดคุยกับนายสมัครเพื่อไม่ให้รับตำแหน่งนายกฯ โดยจะเสนอให้ทางออกให้นายสมัครเป็นคนเสนอชื่อนายกฯคนต่อไปในที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นสิทธิของนายสมัครจะเลือกใคร และได้มอบหมายให้ทั้ง 3 สามคนนี้ไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้สนับสนุนบุคคลที่พรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อให้เป็นนายกฯต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมองว่าวันนี้ตัวแปรสำคัญอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล ถึงอย่างไรก็ต้องทำความเข้าใจกับพรรคร่วม เพราะมีสิทธิที่จะเลือกข้างเลือกขั้วได้ ดังนั้นเชื่อว่านายสมัครจะเข้าใจ ส่วนรายชื่อคนที่จะเป็นนายกฯที่เด่นที่สุดในสายตาพรรคร่วมรัฐบาลเท่าที่มีการส่งสัญญาณกันเบื้องต้นคือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เพราะมีภาพพจน์ดี เป็นคนกลางๆ ไม่ได้ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหมือนกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
แพลมไต๋ 1 ใน 3 จะได้เสียบแทน
ต่อมาเวลา 14.00 น. มีการประชุม ส.ส.พรรค พลังประชาชน โดยนายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะประธาน ส.ส. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งนายไชยา สะสมทรัพย์ รองหัวหน้าพรรค ได้นำผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมาแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และขอให้ ส.ส.ทุกกลุ่มช่วยกันประคับประคองพรรค พร้อมขอคำยืนยันจากกลุ่มอีสานพัฒนาและ ส.ส.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯว่า จะไม่ เคลื่อนไหวอะไรอีกในช่วงที่แกนนำพรรคไปประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อจัดการเลือกนายกฯ ขณะที่นายไพจิต ศรีวรขาน แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา กล่าวขอโทษที่ประชุมที่ไปเคลื่อนไหวแล้วมีผลกระทบต่อพรรค
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รักษาการ รมว.วัฒนธรรม หัวหน้ากลุ่มขุนค้อนให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม พรรคว่า ที่ประชุมมอบให้นายสมชาย นายสมพงษ์และนพ.สุรพงษ์เป็นตัวแทน ส.ส.ไปรายงานสถานการณ์ของพรรคต่อนายสมัคร รวมทั้งเป็นการให้กำลังใจนายสมัครด้วย โดยพรรคจะให้เกียรตินายสมัครในการตัดสินใจว่ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ จากนั้นแกนนำทั้ง 3 คนจะไปคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่อ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเชื่อว่านายสมัครจะไม่รับตำแหน่ง เนื่องจากนายสมัครคงทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในพรรคดี ส่วนรายชื่อที่จะเสนอขึ้นมาแทนนั้น ยอมรับว่าแกนนำ 1 ใน 3 คนที่ไปเจรจากับนายสมัครจะมีชื่อถูกเสนอให้เป็นนายกฯ
รุกบีบสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค
นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากการพูดคุยในที่ประชุม ส.ส.หลายคน เชื่อว่านายสมัครจะไม่รับตำแหน่ง เนื่องจากตัวแทนทั้ง 3 คนที่จะไปพูดคุยคงจะรายงานความแตกแยกทางความคิดภายในพรรค และนายสมัครคงไม่อยากเป็นต้นเหตุทำให้พรรคแตกแยก ทั้งนี้ การเจรจากับนายสมัครและพรรคร่วมรัฐบาลจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้ ก่อนที่จะเรียกประชุมพรรคเพื่อขอมติจากที่ประชุม
นายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้คงต้องให้นายสมัคร ตัดสินใจเอง หลังจากประเมินผลดีผลเสียที่ออกมาแล้ว โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ได้มีตัวแทนของพรรคที่เคยไปพบกับนายสมัคร และทำหน้าที่ประสานกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย แต่นำผลการหารือไปแจ้งให้นายสมัครรับทราบ คนพวกนั้นอาจจะแจ้งผลเพียงครึ่งเดียวว่า พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนพรรคพลังประชาชนให้ตั้งรัฐบาล แต่ไม่พูดเรื่องอื่นๆว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่สนับสนุนนายสมัครเป็นนายกฯ ดังนั้น นายสมัครจึงได้รับข้อมูลครึ่งเดียว และนำมาตัดสินใจจะเป็นนายกฯอีก สิ่งที่ปรากฏเมื่อเช้าที่รัฐสภา นายสมัครน่าจะเข้าใจเรื่องทั้งหมด และเข้าใจพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังดีที่พรรคร่วมไม่ไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์หักหน้าพรรคพลังประชาชน
“ธีรพล” เผย “สมัคร” ยุติบทบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนว่า หลังจากที่นายสมัครเดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ก็ได้ไปทำธุระส่วนตัวก่อนจะกลับเข้าไปที่บ้านซอยนวมินทร์ 81 จนกระทั่งในช่วงเย็น หลังจากที่พรรคพลังประชาชนมีมติให้ 3 ส.เป็นตัวแทนมาเจรจากับนายสมัคร ซึ่งผู้สื่อข่าวจำนวนมากก็เดินทางมาดักรอทำข่าวอยู่ที่บ้านทันที แต่จนกระทั่งเวลา 18.30 น. ก็ยังไม่มีวี่แววของ 3 ส.เลย ขณะที่นายธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกฯ ก็นั่งรถส่วนตัวออกมาจากบ้านของนายสมัคร ขณะที่รถกำลังจะแล่นผ่านกลุ่มผู้สื่อข่าว นายธีรพลได้สั่งให้หยุดรถและเปิดประตูลงมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “นายกฯ (นายสมัคร) ได้ฝากให้มาบอกว่า ท่านได้ทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยจนถึงที่สุดแล้ว จากนี้ไปเป็นภาระของพรรคที่จะดำเนินการต่อ ท่านพูดเพียงเท่านี้” ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมัครจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนหรือไม่ นายธีรพลตอบว่า ท่านบอกเพียงเท่านี้ว่าได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาประชาธิปไตยดีที่สุดแล้ว ท่านก็จะยุติ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของพรรค
พปช.ยังระอุ 2 ฝ่ายดิ้นชิงอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในพรรคพลังประชาชนเริ่มมีการเดินเกมชิงไหวชิงพริบในการจัดโครงสร้างดุลอำนาจใหม่ภายในพรรค หลังจากที่นายสมัครยอมถอย โดยกลุ่มเพื่อนเนวินส่งตัวแทนไปยื่นเงื่อนไขต่อกลุ่มวังบัวบานของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ขอให้เสนอชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค ขึ้นเป็นนายกฯแทนนายสมัคร พร้อมกับขอให้รัฐมนตรีในกลุ่มอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่กลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสาน กทม. และภาคกลางบางส่วนไม่ยอมรับ เนื่องจากเห็นว่า นพ.สุรพงษ์มีบทบาทอยู่ภายใต้การครอบงำของนายเนวิน อีกทั้งที่ผ่านมามักมีปัญหาในการประสานงานกับ ส.ส.ของพรรค ดังนั้นแกนนำระดับสูงของพรรค รวมทั้งแกนนำของบ้านเลขที่ 111 จึงได้หารือกันเพื่อเตรียมเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมคนอื่น อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เพื่อให้ผู้ใหญ่ในพรรคนำชื่อไปหารือกับนายใหญ่อีกครั้ง
ตอกย้ำ 6 พรรคยังปึ้กไม่พลิกขั้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดินทางไปหารือกันอีกครั้งที่เซฟเฮาส์ซอยสุโขทัยของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ทั้งหมดได้หารือเพื่อตอกย้ำความแน่นอนในการจับมือจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการพลิกขั้ว
นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์
5131601387 sec.02

กรมอุตุฯ ประกาศเตือน! ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า

กรมอุตุฯ ประกาศเตือน! ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า [13 ก.ย. 51 - 05:50]


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (13 ก.ย.) ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศประจำวันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2551 เมื่อเวลา 04:00 น. โดยได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 12 (328/2551) เรื่อง “ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก” ใจความว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ทั่วประเทศยกเว้นในภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ เช่น บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรีและตราด ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1- 2 วันนี้ (13-14 ก.ย.51)

อนึ่ง คลื่นลมในอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังการเดินเรือในระยะนี้ ไว้ด้วย

สำหรับพยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้ เป็นดังนี้

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศา สูงสุด 32 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ บริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23 องศา สูงสุด 33 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา อุณหภูมิต่ำสุด 23 องศา สูงสุด 32 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี และสระบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23 องศา สูงสุด 31 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรีและตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศา สูงสุด 32 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศา สูงสุด 35 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ใกล้ฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศา สูงสุด 34 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง มากกว่า 2 เมตร

http://www.thairath.co.th/onlineheadnews.html?id=104023

นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์


5131601387 sec.02

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง“ทิชา ณ นคร” คดีบิ๊กขี้หลี

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง“ทิชา ณ นคร” คดีบิ๊กขี้หลี
วันนี้( 10 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กระทรวงยุติธรรม เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 6-20 มิ.ย.46 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยให้สัมภาษณ์และลงบทความ เรื่องจดหมายจากองค์กรผู้หญิงถึงนายกรัฐมนตรี อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมให้ได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมหารือแล้วเห็นว่า โจทก์ร่วมไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ารักษาความปลอดภัยในการประชุม ครม.ที่ จ.ภูเก็ต และ จ.อุบลราชธานี ต่อมาวันที่ 4 มิ.ย.46 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงข่าวกรณีที่โจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ส่อไปในทางชู้สาวกับนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดยหนังสือพิมพ์มติชนได้ลงบทสัมภาษณ์ของจำเลยในวันที่ 6 มิ.ย.46 และลงบทความของจำเลยในวันที่ 20 มิ.ย.46 เห็นว่าทั้งบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลย ระบุพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ส่อเจตนาในทางชู้สาวกับนักข่าวผู้หญิง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาระหน้าที่แม้แต่น้อย แม้ในบทความจะไม่ได้ระบุชื่อตัวโจทก์ร่วมโดยตรง แต่ช่วงเวลานั้น ประชาชนต่างทราบว่า หมายถึงโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาสังคม จึงพยายามชี้ให้เห็นปัญหา เพื่อร่วมกันแก้ไข โดยแสดงความเห็นในมุมของสตรีโดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วม ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ภายหลัง นางทิชา เปิดเผยว่า จากคำพิพากษาของศาลแสดงถึงมาตรฐานการใช้ชีวิตของผู้หญิงสมัยใหม่ ว่าเราสามารถยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมได้ โดยมีกฎหมายคุ้มครอง ถือว่าคุ้มค่ามากกับการมีคดีความขึ้นศาลครั้งนี้ทำให้เห็นว่าผู้ไม่มีอำนาจไม่ใช่จะเป็นผู้เสียเปรียบเสมอไป ถือว่าเป็นชัยชนะที่น่าสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องกลับ พล.ต.อ.สันต์แล้ว ด้าน นาย นคร ชมพูชาติ รองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในฐานะทนายจำเลย กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายมีหลักว่าหากเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม แม้อ้างชื่อหรือไม่จะอ้างชื่อ กฎหมายก็เอื้อประโยชน์ไม่เอาผิดได้ ซึ่งคดีนี้จะเป็นผลทำให้ผู้ที่มีอำนาจไม่ว่าจะในระบบราชการ หรือบริษัทเอกชน มีความยับยั้งไม่ให้กระทำความผิดทางเพศต่อผู้ที่ด้อยกว่าได้.

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176414&NewsType=1&Template=1

นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์

5131601387 sec.02

จับตางูเห่า พปช.

จับตางูเห่า พปช.



สกัด'สมัคร'คัมแบ๊ก 6 พรรคยันกอดคอตั้งรัฐบาล ผบ.ทบ.ชี้ รบ.พิเศษแก้วิกฤติ ห้ามพลาดโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่วันนี้จับตาปฏิบัติการช่วงชิงอำนาจ ลือสะพัดพรรคร่วมเตรียมแปรพักตร์ไปเข้ากับ"ประชาธิปัตย์"เพราะไม่พอใจที่"พลังประชาชน"เสนอ"หมัก"เป็นนายกฯ อีกรอบ เผย"เสธ.หนั่น"เดินเกมแอบต่อสายเคลียร์ ด้าน ปชป.ระริกระลี้รอรับส้มหล่น ขณะที่“หมัก” ประกาศ “กามิกาเซ่” สู้ตายเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมแพ้พวกข้างถนน อย่ากะพริบตา “อีสานพัฒนา” มีสิทธิกลายร่างเป็นงูเห่า “ไพจิต” ยันไม่เอานายกฯ คนเดิม หวั่นสถานการณ์เลวร้ายสุดกู่ เผยเอาแน่ไม่โหวตสวนก็งดออกเสียง “เติ้ง” แย้มนายกฯ ใหม่ต้องแกร่งทั่วแผ่น ด้าน ผบ.ทบ.เชียร์รัฐบาลแห่งชาติ เปรยถ้าทำได้จะเป็นทางออกที่ดี พปช.ดัน “หมัก” คัมแบ๊ก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่พรรคพลังประชาชนมีการประชุม ส.ส.นัดพิเศษ เพื่อขอมติเสนอชื่อผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ก.ย. มี ส.ส.รัฐมนตรี และแกนนำกลุ่มต่าง ๆ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำ ส.ส.ภาคเหนือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำภาคเหนือตอนล่าง นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ประธาน ส.ส.กรุงเทพฯ นายทรงศักดิ์ ทองศรี กลุ่มเพื่อนเนวิน รวมถึงผู้ที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯคนใหม่อย่างนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ยกเว้นนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าร่วมประชุม รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมได้แยกเป็น 2 ส่วนโดยระดับกรรมการบริหารพรรค รัฐมนตรี และแกนนำประชุมที่ชั้น 8 ขณะที่ ระดับ ส.ส.แยกประชุมที่ชั้น 2 หลังการประชุม นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกฯรอบ 2 โดยไม่มีใครคัดค้าน พรรคร่วมรับได้ไม่มีปัญหา รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ในการประชุมมีความเห็นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.ไม่ต้องการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ 100 เปอร์ เซ็นต์ นำโดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นคร พนม กลุ่มที่ 2.สนับสนุนให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ นำโดยกลุ่มเพื่อนเนวิน กลุ่มที่ 3.ต้องการสนับสนุนให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯแต่เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง รวมถึงคดีหมิ่นประมาท ซึ่งอาจส่งผลให้นายสมัครถูกตัดสินจำคุกในวันที่ 25 ก.ย. ข่าวแจ้งว่า กลุ่มของนายไพจิตได้แสดง เจตจำนงชัดเจนว่าไม่ต้องการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ โดยอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลต่างไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้สถานการณ์การเมืองเลวร้ายไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ได้แย้งว่าจากที่ตนได้เดินทางไปพบหัวหน้าพรรคร่วม รัฐบาลเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ทุกพรรคยืนยันว่าจะสนับสนุนนายสมัครเป็นนายกฯอีกครั้ง “ยงยุทธ”นำทีมกล่อมสู้ต่อ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะเสนอชื่อนายสมัคร ให้เป็นนายกฯ การตัดสินใจครั้งนี้ได้นำความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา แต่เนื่องจากวันนี้เรากำลังสู้กับอำนาจที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย โดยเฉพาะลัทธิการเมืองใหม่ จึงสนับสนุนนายสมัครให้สู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยต่อไป นายพงศกร อรรณนพพร รักษาการ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากนี้ นพ.สุร พงษ์ นายทรงศักดิ์ นายสันติ และนายยงยุทธ จะนำมติที่ได้ไปพูดคุยกับนายสมัคร ถ้านายสมัครไม่รับตำแหน่ง พรรคยังไม่ได้หารือว่าจะเสนอใครขึ้นมาแทน ต้องกลับมาประชุมพรรคอีกครั้ง อีสานพัฒนาแผลงฤทธิ์ นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคพลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า หากนายสมัครไม่รับตำแหน่ง พรรคต้องกลับมาประชุมอีกครั้งว่าจะเสนอชื่อใครแทน เบื้องต้นก็อยู่ในรัฐมนตรี “3 ส.”เช่นเดิม คาดว่าจะได้คำตอบอย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน 08.00 น. วันที่ 12 ก.ย. ก่อนเปิดประชุมสภาเพื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม กลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชน กล่าวปฏิเสธข่าวที่ระบุว่าพรรคมีมติหนุนนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า พรรคยังไม่ได้มีมติว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ เพียงแต่มอบหมายให้คณะทำงานไปเจรจากับนายสมัคร เพื่อขอคำตอบว่าจะยังยืนยันที่จะเป็นนายกฯต่อหรือไม่ ได้คำตอบอย่างไรก็จะนำมาหารือในที่ประชุมอีกครั้ง ขู่ 23 เสียงไม่ยกมือหนุน ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส. เลย กลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชน กล่าวเสริมว่า การที่คณะทำงานไปหารือกับนายสมัคร เพื่อต้องการบอกให้นายสมัครถอย ให้เห็นแก่ชื่อเสียงและประเทศชาติ เพราะนอกจากคนรอบนอกจะไม่เอาแล้ว แม้แต่ ส.ส.กว่า 100 คนของพรรคก็ไม่เอา นี่ยังไม่รวมกับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นไปในแนวทางเดียวกัน “หากนายสมัครยังเดินหน้าจะรับตำแหน่งอีก กลุ่มอีสานพัฒนาที่มี 23 เสียงจะไม่ยกมือหนุนแน่นอน” ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนากล่าว เมื่อถามว่า โอกาสที่ตำแหน่งนายกฯจะพลิกผันไปเป็นของพรรคการเมืองอื่นมีหรือไม่ นายปรีชากล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น ตอนนี้พูดกันอยู่แค่ว่านายสมัครจะรับหรือไม่เท่านั้น เพราะคนที่มีอักษรย่อ “ส.” 2 คนในพรรคก็ยังมีสิทธิอยู่ ไม่เป็นของพรรคอื่นแน่ มติ “ปลาไหล” ร่วม พปช. นายเอกพจน์ ปานแย้ม โฆษกพรรคชาติไทย แถลงผลการประชุมพรรคว่า พรรคพร้อมเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้ง ส่วนการสรรหาชื่อนายกฯ มอบหมายให้พรรคพลังประชาชนเป็นผู้คัดเลือก จึงต้องรอผลสรุปว่าเขาจะเสนอชื่อใคร เมื่อทราบชื่อแล้ว พรรคจะประชุมกันอีกครั้งที่รัฐสภา ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายเอกพจน์กล่าวต่อว่า พรรคเพียงแต่ฝากข้อคิดไปยังพรรคพลังประชาชนในการสรรหานายกฯ ว่าขอให้พิจารณาคนที่เหมาะสม เป็นผู้นำ ประสานงานและพูดจาได้ทุกฝ่าย มีความประนีประนอมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมือง ขวาง “หมัก” รีเทิร์น รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมนายบรรหารได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายว่าหากพรรคพลังประชาชนเสนอชื่อนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกมีความเห็นอย่างไร ซึ่งสมาชิกทุกคนได้ลุกขึ้นพูดเปิดใจไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ต้องการให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพื่อลดความขัดแย้งที่มีอยู่ขณะนี้ ซึ่งมีสมาชิกพรรคบางคนถึงกับเสนอว่า ถ้าพรรคพลังประชา ชนยังยืนยันที่จะเสนอนายสมัครเป็นนายกฯ อีกก็ขอให้พรรคถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ข่าวแจ้งด้วยว่า นายบรรหารขอให้ทุกคนใจเย็น ๆ การเมืองต้องค่อย ๆ คิดผลีผลามไม่ได้ การจะตัดสินใจต้องคิดอย่างรอบคอบ นำปัจจัยแวดล้อมหลายประการมาประกอบ ต้องรอดูว่าพรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ แล้วจึงมาพิจารณากันอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ “เติ้ง” แขวะ ปชป.รัฐบาลแห่งชาติ ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า พรรคยึดหลักเสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และได้ฝากข้อคิดว่าใครบ้างที่เหมาะเป็นผู้นำรัฐบาล เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในชาติ และเช้าวันที่ 12 ก.ย. จะประชุมกันอีกครั้งหลังจากที่พรรคพลังประชาชนส่งชื่อมาให้ทราบ เมื่อถามว่า ถ้าเป็นบุคคลที่เห็นว่าไม่ใช่ มติพรรคที่จะร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง การแถลง 6 พรรคร่วมรัฐบาลยินดีที่จะเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ นายบรรหารกล่าวว่า ตอบไม่ถูกอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ ถ้าให้เป็นก็ไม่มีปัญหา แต่รัฐบาลแห่งชาติไม่มีฝ่ายค้าน เดิมพรรคประชาธิปัตย์ก็บอกว่าไม่เห็นด้วย แต่มาเสนอในช่วงนี้คงอยากผ่าทางตัน หากมีเสียงสนับสนุนก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก นายกฯ ใหม่ต้องอึดแกร่งทั่วแผ่น ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ จะรับได้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ส.เสือมีกี่ ส. ก็เหมาะสมทั้งหมด สำคัญอยู่ที่คนจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ต้องมีบารมีเพียงพอ เพราะถ้าไม่มีบารมีอยู่เดือนเดียวคงทนเหตุการณ์บีบคั้นไม่ไหวแล้ว ใครที่สามารถทนมือทนไม้ได้อย่างนั้นก็ต้องพิจารณาดูกันเอง “ส่วนผมเขาไม่ให้ผมเป็นหรอกเชื่อเถอะ และผมก็ไม่เป็น ขนาดยังไม่ได้เป็นบนเวทีก็มาด่าผมเลย แย่จริง ๆ ตอนนี้การเมืองสู่ทางตันแล้วจะทำอย่างไร วิธีสุดท้ายของผมมีแต่พูดไม่ได้ พูดได้แค่ว่า ตูม ๆ” นายบรรหาร กล่าว ทางออกคือรัฐบาลพิเศษ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า พรรคร่วมรัฐบาลกำลังตัดสินใจกันอยู่จึงต้องรอฟัง สิ่งที่พรรคเสนอเป็นการหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ได้สนใจเรื่องการแย่งชิงอำนาจเลย ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความคิดที่จะทำงานร่วมกันต่อ ความคิดดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น แต่ต้องให้เหตุผลกับสังคมว่ามีทางออกอย่างไร ถ้าเขาเห็นว่ามีประเด็น ที่น่าจะต้องมาคุยกันเราก็พร้อม อีกทั้งต้องรอดูว่าสภาจะเลือกใครเป็นนายกฯ และให้ผู้นั้นคลี่คลาย วิกฤติ “การเสนอให้มีรัฐบาลพิเศษเป็นทาง ออกหนึ่งเท่านั้น ไม่เหมือนรัฐบาลแห่งชาติในอดีต เพราะเป็นรัฐบาลที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พรรคการเมืองด้วย และต้องประกาศเวลาและภารกิจที่ชัดเจนในการทำงานในสถานการณ์พิเศษ ถ้าจะไม่มีฝ่ายค้าน เพราะถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม ก็น่าหนักใจสำหรับบ้านเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าว เตือนดึงดันแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อถามว่า ถ้านายกฯ คนใหม่มาจากพรรคชาติไทย จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่รู้ว่าภารกิจของตัวเองคืออะไร ถ้าตระหนักในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นแล้วเก็บบทเรียนไม่ให้เหมือนกับที่ผ่านมา ก็มีโอกาสที่จะแก้ไขได้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติยังเป็นทางออกสำหรับบ้านเมืองอยู่ ส่วนตัวนายกฯต้องมาจากสภา มีระยะเวลาในการบริหารอาจจะ 6 เดือนถึง 1 ปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้ารัฐบาลยังคิดว่าการกุมเสียงข้างมากเป็นความชอบธรรม แล้วดึงดันจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะนี้ คิดว่าท้าทายความรู้สึกของประชาชน ยิ่งตัวบุคคล ที่คาดหวังให้เป็นนายกฯ คือนายสมัครน่าเป็นห่วง คงไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ รับไม่ได้ผสมพันธุ์ พปช. เมื่อถามว่าสูตรที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เสนอให้พรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะเราคงไม่สามารถแบกรับภาระในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชาชนได้ แต่หากทุกพรรคร่วมมือกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนไม่สนับสนุนนายสมัคร แล้วจะมาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่แน่ เพราะ ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งอึดอัดใจกับท่าทีของพรรคที่จะส่งนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก็มีมาคุยกับตนแต่การมาร่วมกันหรือไม่เขาก็ต้องตัดสินใจเอง เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมาะสม อีกด้านหนึ่งที่กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบและได้รับมอบหมายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ตนได้เรียนนายสมชาย วงศ์ สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษา ธิการว่า ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ก็มีความเหมาะสมที่จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีผลกระทบต่อสังคมและด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อที่ 1. ที่ห้ามชุมนุม กันเกิน 5 คน เมื่อถามว่า เมื่อประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้ว จะมีกฎหมายใดมารองรับ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตำรวจและทางทหารประเมินว่า กฎหมายปกติสามารถดูแลสถานการณ์ได้ โดย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอให้ทหารเป็นผู้ช่วย เจ้าพนักงานก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่หากสถานการณ์รุนแรงอีก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล “ป๊อก”เห็นด้วยรัฐบาลแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคืบหน้าการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เราอยากให้สังคมหลีกเลี่ยงการปะทะกัน หรือยืนกรานที่จะทำความต้องการของพวกตัวเองอย่างเดียว ทราบว่ามีการดำเนินการตามลำดับขั้น ปัจจัยที่จะเกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้น อยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การเจรจาลดความสำคัญลงไป เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งอยากได้นายกฯ แบบใด ผบ.ทบ.กล่าวว่า ต้องเป็นคนที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ความขัดแย้งต้องหมดไปและมีทางออกให้สังคมผ่านวิกฤติไปได้ เมื่อถามว่า พรรคพลังประชาชนควรเสนอใครเป็นนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ใครก็ได้ที่ทำให้สถานการณ์และสังคมดีขึ้น เมื่อถามถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นได้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งนักการเมืองต้องเสียสละ 6 พรรคจับมือแน่นตั้งรัฐบาล วันเดียวกันที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 6 พรรคร่วมรัฐบาลได้หารือเป็นการภายในถึงการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังตัวแทนทั้ง 6 พรรคได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกฯ ในฐานะตัวแทนพรรคพลังประชาชนกล่าวว่า 6 พรรคยืนยันที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และมอบหมายให้พรรคพลังประชาชนเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ เมื่อได้รายชื่อแล้วจะประสานไปยังแต่ละพรรค เพื่อให้มีมติก่อนประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯ ในวันที่ 12 ก.ย. นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน ในฐานะตัวแทนพรรคประชาราช กล่าวว่า พร้อมร่วมรัฐบาล เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนจะคัดบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯโดยฟังเสียงประชาชน ชท.ขอดูรายชื่อนายกฯ ก่อน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า พรรคไม่ได้ยึดตัวบุคคลแต่ยึดระบบในระบอบประชาธิปไตย และพรรคให้การสนับสนุนพรรคพลังประชาชน รวมทั้งเคารพสิทธิในการเสนอชื่อนายกฯ ของพรรคพลังประชาชนด้วย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว. เกษตรฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าว ว่า บุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ควรจะเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาของประเทศได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเสนอชื่อนายสมัครพรรคชาติไทยรับได้หรือไม่ นาย สมศักดิ์กล่าวว่า ต้องรอข้อสรุปก่อนว่าพรรคพลังประชาชนเสนอใครจะรับได้หรือไม่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมพรรคอีกครั้ง “เหวียง” รับใครก็ได้ใน พปช. พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า ขอยืนยันหลักการและความชอบธรรมคือ พรรคที่ได้เสียงข้าง มากจะต้องเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตนมีความรู้สึกคล้ายนายสมศักดิ์ว่าก็คงจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ นายกฯ จะเป็นใครก็ได้ในพรรคพลังประชาชน ด้าน ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคจับมือร่วมเป็นรัฐบาล คิดว่าพรรคพลังประชาชนคงคัดสรรคนที่บ้านเมืองยอมรับและแก้วิกฤติบ้านเมืองได้ พรรคจะประชุมอีกครั้งหลังจากได้รับรายชื่อนายกฯ ที่พรรคพลังประชาชนเสนอมา ถ้าผิดข้อตกลงต้องคุยกันใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่ 6 พรรคจะเปิดแถลงร่วมกันถึงการจัดตั้งรัฐบาล 4 พรรคร่วมประกอบด้วย พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ได้หารือกันที่ห้องอาหารจีน โรงแรมพลาซ่าแอท ธินี โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ภายหลัง พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเราได้ตกลงที่จะร่วมมือกันแก้วิกฤติของประเทศ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือซ้ำเติมเข้าไปอีก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราต้องมาคุยกันอีกครั้ง “หมัก” คนรักแมวประกาศสู้ต่อ สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสมัคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เก็บตัวเงียบอยู่ภายในบ้านพัก โดยมีบุคคลที่เคารพนับถือเดินทางเข้าพบและให้กำลังใจ จนกระทั่งเวลา 10.45 น. จึงได้เดินทางออกจากบ้านด้วยรถยนต์เลกซัสสีทอง ทะเบียน 7ศ 3929 เมื่อเห็นมีรถผู้สื่อข่าวติดตามก็ได้ตัดสินใจมายังรัฐสภาเพื่อเซ็นชื่อและเดินทางกลับออกมาทันที โดยไม่ยอมตอบคำถาม ใด ๆ ทั้งสิ้น ก่อนที่จะขึ้นรถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลย่านพระราม 2 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบแพทย์นายสมัครได้กลับมายังบ้านพัก เพื่อรอหารือกับตัวแทนของพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งเวลา 13.30 น. ตัวแทนพรรคได้เข้าพบเป็นเวลา 40 นาที ภายหลังนายทรงศักดิ์ ทองศรี รักษาการ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้นำมติพรรคมาหารือ นายสมัครก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะสู้ต่อเพื่อปกป้องประชาธิปไตย และพร้อมรับมรสุมที่จะเกิดขึ้น ส่วนคดีความต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต ลั่นพร้อมฟันฝ่าอุปสรรค เมื่อถามว่า นายยงยุทธติดใจอะไรหรือไม่ที่นายสมัครประกาศสู้ต่อ นายทรงศักดิ์กล่าวว่า นายยงยุทธอธิบายความห่วงใยให้รับทราบ แต่นายสมัครก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรค เท่าที่เห็นท่านมีกำลังใจดี เมื่อถามว่า ได้มีการประเมินภาพรวมและกระแสต่าง ๆ ที่จะเกิด ผลกระทบตามมาหรือไม่ นายทรงศักดิ์กล่าวว่ากระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่กระแสที่แท้จริง ของประชาชน ผู้สื่อข่าวแย้งว่า หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล บางคนไม่อยากให้เสนอชื่อนายสมัคร นายทรงศักดิ์กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็น แกนนำของพรรคคงจะไปแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบ ว่าไม่มีการเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ สำรองแทนนายสมัคร เมื่อถามว่า กลัวหรือไม่ว่าในการโหวตเลือกนายกฯ ส.ส.ของพรรคจะมีการแหกมติเกิดขึ้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ระบบพรรคเมื่อมีมติสมาชิกต้องรับฟัง ให้สภาเป็นคนตัดสินใจ ด้านนายสุทิน คลังแสง รองโฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวเสริมว่า นายสมัครบอกว่าทั้งหมดอยู่ที่สภา ถ้าสภาเห็นว่าเหมาะสมและ มีมติเลือกเป็นนายกฯ ท่านก็พร้อมรับตำแหน่ง แต่ถ้าสภาบอกว่าไม่เหมาะสมท่านก็ไม่รับตำแหน่ง ส่วนตัวท่านก็บอกว่าพร้อม ท่านบอกว่าต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ให้สภาเป็นคนตัดสินดีที่สุด ต่อข้อถามว่า เกรงว่าจะเกิดวิกฤติซ้ำหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่ว่านายสมัครจะอยู่หรือไม่อยู่มันก็เกิดวิกฤติอยู่ดี เพราะดูเงื่อนไขแล้วไม่ว่าจะเป็นนายสมัครหรือคนอื่นเขาก็ไม่รับ เมื่อถามว่า ได้มีการหารือเรื่องคดีหมิ่นประมาท ที่จะมีการตัดสินในวันที่ 25 ก.ย. หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ท่านมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น พรรคมอบหมายให้ นพ.สุรพงษ์ไปหารือ เบื้องต้นพรรคร่วมยังยืนยันที่จะทำงานร่วมกัน ชัดเจนรับเป็นนายกฯ รอบ 2 แหล่งข่าวจากคณะผู้เข้าเจรจากับนายสมัครเปิดเผยว่า นายสมัครได้กล่าวกับคณะทำงานว่า ไม่คาดคิดว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาล ด้วยข้อกล่าวหาเล็กน้อย ต่อไปก็เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะยังยืนยันฝ่ายบริหารอีกรอบหรือไม่ ตนพร้อมที่จะรักษาระบบ และประชาธิปไตย ส่วนข้อห่วงใยในวันที่ 25 ก.ย. ที่ศาลอุทธรณ์จะตัดสินคดีหมิ่นประมาท ก็หวังว่าจะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกรอยอย่างที่คนกลัว เพราะประชาชนให้ความสนใจดูอยู่ อย่างไรก็ตาม หากเกิดอะไรขึ้นสังคมจะได้เรียนรู้และเป็นกรณีศึกษาร่วมกัน อะไรจะเกิดก็ให้เกิด แหล่งข่าวแจ้งอีกว่า นายสมัครยังกล่าวขอบคุณที่พรรคยังยืนยันรักษาระบบและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเอาไว้ ส่วนจะมีคนคัดค้านบ้างก็เป็นธรรมดา ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ตนจะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคทุกด้าน จะอยู่ยาวที่สุดเท่าที่จะอยู่ได้ เรื่องยุบสภาไม่คิด ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็สบายใจ โดยหลักการเชื่อว่าทุกคนอยากทำงานให้เป็นมรรคเป็นผล วันนี้ที่มาถามตนอย่างนี้ก็ดีแล้วเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ถ้าไม่มาถามแต่มีมติอะไรออกไป เกิดตนไม่รับก็จะหน้าแตกไปหมด ส่วนความเป็นห่วงเรื่องปัญหาความรุนแรง เขาเตรียมจะเอาเราอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่ตนก็มีอยู่แล้ว จับตาโหวตมีงูเห่ารอบ 2 “เมื่อนายสมัครตัดสินใจอย่างนี้ ไม่แน่ใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะการกลับมาอีกครั้งของนายสมัครจะเร่งให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น หรือบางครั้งนายสมัครต้องการกลับมาเพื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยหวังว่าจะได้ ส.ส.มากกว่าเดิม ซึ่งเป็นการตอกย้ำความชอบธรรมของตัวเอง แต่พรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางและเล็กยังไม่พร้อมเลือกตั้ง อาจไม่ยอมให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และอาจเกิดเหตุการณ์พลิกผันกลายเป็นตำนานงูเห่ารอบ 2” แหล่งข่าวระบุ แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เหตุผลที่จะทำให้เกิดตำนานงูเห่ารอบ 2 เพราะว่าที่ผ่านมา 7 เดือนได้พิสูจน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นแล้วว่า การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของตัวเองดีขึ้น มิหนำซ้ำยังทำให้ย่ำแย่กว่าเดิม ขณะที่คนรอบข้างนายสมัครกลับเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ จึงต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯที่เป็นบุคคลที่สามารถให้ความเป็นธรรมและประสานได้กับทุกฝ่าย ดังนั้นนายกฯคนต่อไปอาจกลายเป็นบุคคลนอกพรรค เพื่อลดแรงกดดันที่พุ่งตรงไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ 100 ส.ส.ขู่รวมพลังค้าน นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ในฐานะแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรคทั้งภาคเหนือ อีสานตอนบน ภาคกลางบางส่วน ประมาณ 100 คนจะรวมตัวกันเพื่อแจ้งจุดยืนของกลุ่ม ว่าจะไม่ยกมือโหวตรับนายสมัครเป็นนายกฯอีกครั้งแน่นอน เพราะเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมาะสมที่นายสมัครจะเป็นนายกฯ หากจะอ้างมติพรรคหรือลงโทษ ส.ส.ที่ยกมือสวนโหวต เราก็จะแย้งว่า ส.ส. มีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ นายไพจิตกล่าวต่อว่า เมื่อศาลรัฐธรรม นูญวินิจฉัยแล้วก็ควรเคารพ จึงเห็นว่าควรเสนอชื่อให้คนอื่นมาเป็นนายกฯ หากยังเสนอชื่อนายสมัครเข้ามาอีก เราก็จะขอให้ประธานสภา เลื่อนการพิจารณาออกไป หรือโหวตสวนไปอีกทางหนึ่ง หรืองดออกเสียง ด้านนายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา แต่ยังมี ส.ส.กลุ่มอื่นที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ยอมรับ นายสมัคร ส่วนกลุ่ม ส.ส.ที่สนับสนุนนายสมัครมีกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเป็น ส.ส.กลุ่มน้อย และหากขู่ว่าจะลงโทษที่สวนมติพรรค ทางกลุ่มก็จะเสนอว่ากลุ่มที่สนับสนุนนายสมัครซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยควรจะออกจากพรรคไปแทน นักธุรกิจยี้ถ้ากลับมาอีก ทางด้านความเห็นของนักธุรกิจกรณีนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง นายเจริญ วังอนานนท์ โฆษกสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟสต้า) กล่าวว่า นายสมัครน่าจะขาดจริยธรรมไปแล้ว เพราะมีเรื่องการปลอมเอกสารจนถูกศาลตัดสินให้มีความผิด จึงไม่น่าจะกลับเข้ามานั่งตำแหน่งได้อีก ควรจะเสียสละเพื่อส่วนรวม หาก เลือกกลับมารับตำแหน่งใหม่ เท่ากับว่าผู้ลงคะแนน เสียงให้ไร้จริยธรรมมาก นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยว่า นายกฯ ใหม่ต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม มีความเป็นผู้นำที่ดี มีความรู้ความสามารถบริหารงานโปร่งใส มีความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนถูกต้องด้วยตัวเอง นอกจากนี้ เมื่อรับตำแหน่ง ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที เพื่อระงับความ เสียหายเศรษฐกิจของชาติ หมอดูชี้ “มาร์ค”ดวงไม่เด่น นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล หมอดูชื่อดังกล่าวว่า หากดึงดันที่จะให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง กงล้อประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม อาจถึงขั้นอยู่ประเทศไทยไม่ได้ ควรเปลี่ยนคนดวงดีเข้ามาดูแลจะดีกว่า นายกฯคนใหม่ต้องเป็นคนดวงดีจริง ๆ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายประสานได้ทุกทิศ อย่างไรก็ตาม ดวงของนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่เด่นพอที่จะรับปัญหาหนัก ๆ ได้ ควรจะรักษาเนื้อรักษาตัวไปก่อน อีก 2 ปีจึงจะดีมาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ พร้อมด้วย ส.ว.จำนวนหนึ่งร่วมแถลงข่าวว่า คุณ สมบัติ 7 ประการ ของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ประกอบด้วย 1. ต้องมีความอดทน ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยยึดหลักสันติวิธี 2.มีจิตสำนึก ซื่อสัตย์ และบริหารงานอย่างมี ธรรมาภิบาล ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ 3.จะต้องเป็นผู้ที่ทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ และมีเสถียรภาพ 4.ไม่เป็นผู้สร้างเงื่อนไขใน การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนนำไปสู่ความแตกแยก 5.จะต้องมาจากระบบรัฐสภา 6.มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการเมือง ใจกว้าง และพร้อมรับฟังความคิดเห็น และ 7.เปิดโอกาสให้ประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรต่าง ๆ สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยไม่ถูกครอบงำ โพลชี้คนเชียร์ “หมอเลี้ยบ” ด้านเอแบคโพลได้สำรวจความเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัดจำนวน 2,975 คน เรื่อง “อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์การเมือง ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจ ฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” พบว่า ความเชื่อมั่นใจกระบวนการยุติธรรมที่ให้นายกฯมีความผิดและพ้นจากตำแหน่ง 70.3% เชื่อมั่น 29.7% ไม่เชื่อมั่น ส่วนความหวังว่าประเทศชาติจะสงบสุขหลังคำพิพากษา 64.0% มีความหวัง 36.0% ไม่มีความหวัง ส่วนทางออกของปัญหาการเมืองเวลานี้ เลือกตั้งใหม่ 68.1% พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว 54.2% รัฐบาลลาออกทั้งคณะ 53.6% ส่วนบุคคลใดในพรรคพลังประชาชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็น นายกฯ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 53.8% นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 24.3% นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 12.4% นักวิชาการจี้พรรคร่วมเสียสละ อีกด้านหนึ่งที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนักวิชาการได้ร่วมสัมมนา เรื่อง “ประชาธิปไตยไทยจะไปรอดได้อย่างไร” โดย นายพอพันธ์ วัชจิตพันธ์ ประธานสภาคณาจารย์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้เราอยู่ในภาวะไม่ปกติ พรรค ร่วมรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบและเสียสละ ในส่วนของศาลต้องเร่งสะสางคดีเกี่ยวกับนักการเมืองให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว อยากให้มีรัฐบาลแห่งชาติหรือสภาที่ปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมือง ดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการนำพาประชาชนให้ฆ่ากันเอง ปลุกระดมความเกลียด ชังให้กับประชาชน 2 ฝ่าย เพื่อให้บรรลุถึงชัยชนะของผู้นำ ทั้งที่บ้านเมืองนี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาลหรือพันธมิตรฯ จึงขอเรียกร้องรัฐบาลและพันธมิตรฯ ว่า อย่าใช้สื่อเป็นเครื่องมือปลุกความเกลียดชัง 6 พรรค อย่าเลือกวิถีทางที่นำไปสู่การเผชิญหน้า ฝ่ายพันธมิตรฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แถลงการณ์จุดยืน 5 ข้อ นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยกำลังเข้าสู่ระบบเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เรามีผู้อยากดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย แต่ไม่มีใครเลยที่มีภาวะผู้นำ ผู้นำที่ดีต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ต้องไม่เล่นกับความดีและความหวัง ของประชาชนแล้วยึดอำนาจปกครอง โดยอ้างประชามติเสียงข้างมาก ผู้นำที่ดีในประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องมีความสามารถในการต่อรอง ไม่อ้างเสียงส่วนใหญ่ 12 ล้านเสียง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่า 1. คัดค้านการเสนอชื่อบุคคลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าพ้นสภาพความเป็นนายกฯไปแล้วกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง 2. การคัดสรรและเสนอชื่อผู้นำประเทศ ต้องหลีกเลี่ยง การเผชิญหน้ามากขึ้น 3. กระบวนการตัดสินใจ ต้องรับฟังความเห็นของสาธารณชน 4. ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ในกรณีที่ทางสภาไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองได้ ให้รัฐบาลตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชน 5. รัฐบาลควรใช้สื่อของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และยุติการใช้สื่อเพื่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติ “หมัก” ประกาศ “กามิกาเซ่” ต่อมาเวลา 19.00 น.พรรคพลังประชาชนได้เรียกประชุม ส.ส.อีกครั้ง โดยนายสมัครได้เข้าร่วมประชุมด้วย ภายหลังการประชุม ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรค กล่าวว่า นายสมัครยืนยันความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง ตามที่พรรคมีมติสนับสนุน โดยให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ว่า ภารกิจหน้าที่สำคัญคือทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีภารกิจที่ต้องต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยต่อไป จึงต้องยืนหยัดรักษาระบอบให้ได้ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีปัญหา เพราะยึดถือคติว่า ความกลัวทำให้เสื่อม และอำนาจนิติบัญญัติจะต้องไม่ถูกทำลาย ซึ่งในการโหวตพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมโหวตในแนวทางเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมสภาฯ วันที่ 12 ก.ย.เพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงให้รอรับที่สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 14.00 น. เพื่อนำรายชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันเดียวกันทันที ไม่มีใครเหมาะสมกว่านี้แล้ว แหล่งข่าวแจ้งว่า นายสมัครได้กล่าวกับสมาชิกพรรคว่า ตอนแรกผมอยากวางเฉยแต่มีพวกเราไปเจรจาที่บ้านขอให้รับมติพรรค จึงต้องรักษาระบบและประชาธิปไตยไว้ จะปล่อยไปตามการเรียกร้องของคนข้างถนนไม่ได้ อะไรจะเกิด ก็ไม่ต้องห่วงตนและครอบครัว อย่างวันที่ 25 ก.ย. ตนก็จะประกันและฎีกา คนธรรมดายังสู้ถึง 3 ศาล วันนี้ที่ผมโดนเพราะเขายังคิดว่าโยงใยกับอดีตหัวหน้าพรรค จึงต้องสู้เพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้ ถ้าศาลไม่ให้ประกันติดคุกก็ว่ากันไป ยืนยันว่าตนจะสู้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ รักษา การ กล่าวว่า 2-3 วัน มีข่าวว่าตนจะแย่งตำแหน่งยืนยันว่าไม่จริง ตอนนี้นายสมัครเหมาะสมที่สุด ยากที่ใครจะขึ้นมาแทนได้ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะปลิวไปเลย นายไพจิตกล่าวยืนยันว่า กลุ่มตนจะไม่หนุนนายสมัครเป็นนายกฯ เห็นควรให้เป็นคนอื่นเพื่อลดการเผชิญหน้า โดยจะใช้การโหวตสวนหรืองดออกเสียง 4 พรรคร่วมเตรียมแปรพักตร์ รายงานข่าวจากพรรคเพื่อแผ่นดินแจ้งว่า ภายหลังทราบข่าวนายสมัครประกาศเดินหน้ารับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง ถ้าเสนอชื่อนายสมัครมาจริงก็มั่นใจว่าการลงมติในวันที่ 12 ก.ย. จะเห็นการสลับขั้วทันที แต่ถ้าเสนอชื่อบุคคลอื่นมาพรรคร่วมก็พร้อมจะเทคะแนนหนุนเช่นเดิม ขณะนี้มีเพียงพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเท่านั้นที่ไม่ติดใจว่า พรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อนายสมัครหรือไม่ รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ถ้าเลือกนายสมัครเชื่อว่าจะทำให้ประเทศชาติไม่มีทางออก และเกรงว่าพันธมิตรฯ จะมาปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย. สุดท้ายอาจทำให้ทหารตำรวจต้องออกมาจนเกิดการนองเลือดได้ จึงต้องขอร้องให้พรรคพลังประชาชนทบทวน ผสมพันธุ์ ปชป.ตั้งรัฐบาล รายงานข่าวระบุอีกว่า 4 พรรคร่วมยกเว้นพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้ติดต่อกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ไว้เรียบร้อยแล้วว่า หากพลังประชาชนยังดึงดันที่จะเสนอชื่อนายสมัคร 4 พรรคร่วมจะโหวตสวนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯทันที แม้สูตรจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จะมีตัวเสียงปริ่มน้ำก็ต้องยอมเพื่อไม่ให้บ้านเมืองวิกฤติไปมากกว่านี้ “เบื้องต้นได้คำนวณสูตรตัวเลขไว้คร่าว ๆ คือ ประชาธิปัตย์ 164 เสียง ชาติไทย 34 เสียง เพื่อแผ่นดิน 21 เสียง เนื่องจากอีก 3 เสียงในกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ ไม่เห็นด้วยที่จะไปรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ มัชฌิมาธิปไตย 11 เสียง และประชาราช 5 เสียง และคาดว่าจะมีเสียงจาก ส.ส. อีสานส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชาชนประมาณ 30 เสียงที่จะหันมาโหวตสวนทางด้วย ปชป.ตั้งวอร์รูมรอส้มหล่น แหล่งข่าวในพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคได้เจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดย พล.ต. สนั่นได้ติดต่อประสานผ่านมายังนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา เพื่อเตรียมจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ และสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ซึ่ง พล.ต.สนั่นได้เจรจากับพรรคร่วมรัฐ บาล 5 พรรค และกลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือและภาคกลางของพรรคพลังประชาชนประมาณ 30 คนแล้ว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่นายสมัครจะ ลงชิงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะทำให้วิกฤติการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ย่ำแย่ลง แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า พรรคได้ประเมิน ว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามสถานการณ์อาจจะลงเอยได้หลายรูปแบบ ถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้ อาจทำให้ต้องเลื่อนการลงมติไปเป็นวันที่ 15 ก.ย.แทน หรืออาจจะให้นายสมชายประกาศยุบสภา เพื่อล้างกระดานใหม่หมด.





นายประสพโชติ ปรีชาวรพิชญ์


5131601387 sec.02